ม.สวนดุสิต ประชุมกลุ่มย่อย ในการทำวิจัย เพื่อสร้างกลไกป้องกันการทุจริต
กะฉ่อนวาไรตี้
![photodune-2043745-college-student-s](http://scontent.kachon.com/files/news/363550/1739194526.jpeg)
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีการประชุมกลุ่มย่อย (FOCUS GROUP) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเดินหน้างานวิจัยเพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันการทุจริต เพื่อมุ่งเน้นในหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้แผนงาน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับหน่วยงานของรัฐในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อสร้างความโปร่งใส : การดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมและโยธา โดยมีกรอบวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่
1) เพื่อสร้างมาตรการและตัวชี้วัดการบริหารความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น
2) เพื่อการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านอุตสาหกรรมและโยธา ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น และ
3) เพื่อเสนอแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนในการร่วมจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ให้โปร่งใสและตรวจสอบได้
ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนงานจึงนำไปสู่การกำหนดโครงการย่อยที่สนับสนุนการดำเนินงานของแผนงาน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการย่อยที่ 1 มาตรการและตัวชี้วัดการบริหารความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น และ 2) โครงการย่อยที่ 2 การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านอุตสาหกรรมและโยธา ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น
จากการดำเนินโครงการวิจัยย่อยทั้ง 2 โครงการ ทำให้พบปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างทางหลวงหลายประเด็น อาทิ ปัญหาการบริหารการคลังด้านงบประมาณ การทำบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการคลัง ปัญหาการใช้ตำแหน่งหน้าที่ตนแสวงหาผลประโยชน์ ปัญหาการเฝ้าระวังการทุจริตในภาคประชาชน และปัญหาด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายนอก จึงทำให้สามารถสกัดผลผลิตจากสภาพปัญหาจนนำไปสู่มาตรการและตัวชี้วัดด้านการบริหารความเสี่ยงด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่ประยุกต์มาจากระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบนบนมาตรฐาน ISO 37001 จำนวน 12 มาตรการ 11 ตัวชี้วัด ซึ่งสอดรับกับการพัฒนาต่อยอดดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยจำแนกการใช้งาน 2 ระบบ ได้แก่ แอปพลิเคชัน Line Platform และเว็บแอป (Web App) มีฟังก์ชันการทำงานของแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น ฟังก์ชันแผนพัฒนาท้องถิ่นเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ ฟังก์ชันข้อมูลเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส เช่น เมนูรายงานแผนการพัฒนาท้องถิ่น การรายงานกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่นและการปฏิบัติตามแผนพัฒนาท้องถิ่น ฟังก์ชันแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียนการทุจริต และฟังก์ชันการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
โดยผลการวิจัยภายใต้แผนงานจะสามารถเป็นเครื่องมือและกลไกให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอันประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการให้คำแนะนำ รวมถึงช่วยให้ภาครัฐได้ประเมินความเสี่ยงการให้และรับสินบนให้เกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มประชาชนทุกระดับ โดยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทางหลวงจำเป็นต้องมีประชาชนเข้ามาร่วมเพื่อสังเกตการณ์ภายใต้กรอบกฎหมายหรือระเบียบที่ให้อำนาจ ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนที่เข้าร่วม เพื่อสร้างระบบตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกอย่างชัดเจน
ความคาดหวังของการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์มิใช่การดำเนินงานโดยตอบตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว การสร้างสมดุลของการใช้งานทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงนโยบายเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินงานควบคู่กัน ดังนั้น กลไกและนวัตกรรมในครั้งนี้จะเป็นฐานในการสร้างบ้านที่เข้มแข็ง เพื่อต่อยอดไปสู่โครงสร้างการป้องกันการทุจริตในระดับที่สูงขึ้น และยกระดับศักยภาพของประเทศให้เท่าทันต่อนานาชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป
หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ชาย by กะฉ่อน รายงาน