ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities โอกาสการทำธุรกิจครอบครัว บนโลกบริบทใหม่สู่ความยั่งยืน
กะฉ่อนวาไรตี้
เริ่มแล้วกับงาน ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities กิจกรรมเสวนาออนไลน์ส่งท้ายปีที่ตั้งใจผลักดันธุรกิจครอบครัวไทยให้ก้าวไกลรับปี 2565 อย่างยั่งยืน โดยมี The Cloud พร้อมหน่วยงานเอกชน อาทิ SC Asset, Singha Corporation, Kiatnakin Phatra และ dtac business จัดขึ้นอย่างคัดสรรและอัดแน่นไปด้วยวิทยากรผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจที่มาติดอาวุธเด็ดด้านการตลาดเพื่อชี้ช่องรวยให้กับผู้ประกอบการและนักธุรกิจกันชนิดจัดเต็มผ่านมุมมองของ 5 กูรู ที่ชวนรอบรู้การทำธุรกิจครอบครัวในบริบทโลกใหม่สู่รุ่นถัดไปอย่างยั่งยืน โดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อ.ภาควิชาการตลาดและเจ้าของคอลัมน์สุดฮิต Makoto Marketing และ พิมพ์อร นทกุล บ.ก.บทความธุรกิจของ The Cloud
โลกยุคดิจิทัลเต็มใบและสถานการณ์โควิด ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทุกธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตต่าง ๆ ถาโถมเขามาอย่างไม่หยุดยั้ง ธุรกิจครอบครัวจึงไม่ได้พบเพียงปัญหาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผลันของผู้คน สังคม วิถีชีวิต และโลกที่เราต้องรับมืออย่างมีสติสูงสุด อีกทั้งต้องมีองค์ความรู้ขั้นแอ๊ดวานซ์ พร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและตัวช่วยพิเศษต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวประสบผลสำเร็จและก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนให้จงได้
ในปีนี้งานเสวนา ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities ความเป็นไปได้ในอนาคต ปรับเป็นออนไลน์ ผู้ที่พลาดยังสามารถดูสรุปย้อนหลังได้ที่ Readthecloud.co กิจกรรมนี้เปิดพื้นที่ให้บรรดาผู้ประกอบการและทายาทธุรกิจได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้มากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามมีผู้เข้าร่วมงานมากถึงเกือบหนึ่งพันคน การพูดคุยแบ่งเป็น 2 ช่วง Lecture และ meet เรียกว่าจบงานทั้งความรอบรู้และอาวุธการตลาดครบมือพร้อมลุยสู้เศรษฐกิจในปีหน้าได้อย่างมั่นอกมั่นใจขึ้น โดยเฉพาะช่วง Meet ที่ได้คอนเนคชั่นเยอะเป็นพิเศษ จากทั้งเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทายาทธุรกิจ และซับพลายเออร์ ได้แลกคอนแทคและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
สอดรับกับที่ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California San Diego กล่าวถึง ธุรกิจครอบครัวไทยในบริบทโลกใหม่ ด้วยหลักคิดสำคัญ โดน ‘ป่วน’ ต้อง ‘ปรับ’ อย่า ‘ป่วย’ อย่าเพิ่งท้อหรือป่วย แม้ธุรกิจครอบครัวอาจดูเหมือนว่าจะต้องจัดการตัวป่วนที่มากกว่าธุรกิจทั่วไป แต่ธุรกิจครอบครัวมีสินทรัพย์ที่ธุรกิจครอบครัวที่ต้องรักษาและต่อยอด และอย่าทำให้กลายเป็นหนี้สินเพราะสินทรัพย์เหล่านี้ คือดีเอ็นเอที่ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
ฝั่งคลื่นลูกใหม่ นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ทายาทรุ่นที่ 3 โคคาสุกี้ ฉายวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการ Disrupt ธุรกิจเพื่อลูกค้าในวันหน้า หัวใจสำคัญที่เธอยึดใช้ในการบริหารธุรกิจ คือ ยึดมั่นใน Core Values ทายาททุกรุ่นห้ามลืมว่าอะไรคือเสน่ห์ของธุรกิจนั้น ทำไมเราถึงรับช่วงต่อ และการทำให้ธุรกิจครอบครัวคงคุณค่าของธุรกิจนั้นในทุก ๆ รุ่น ทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่ารูปแบบหรือบริบทใดก็ตาม
ส่วน นพนารี พัวรัตนอรุณกร ทายาทรุ่นที่ 3 ร้านสมใจ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ศิลป์ เสริมความมั่นใจในมุมธุรกิจด้วย ความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่มากกว่าความผูกพัน เธอเลือกให้ความสำคัญกับคู่ค้ามากเป็นพิเศษ เธอระบุชัดว่า…ต้องเข้าใจคู่ค้า เพราะคู่ค้าคือคู่หู และคู่หูคือคู่คิด ทางเลือกที่ดีกว่าในการดูแลคู่ค้า คือการเข้าหาด้วยน้ำใจที่ดีต่อกัน และความตั้งใจจะเป็นคู่ค้าที่ดี คอยเกื้อกูลกัน ทายาทธุรกิจจึงต้องคิดว่าจะนำแต้มต่อหรือความสัมพันธ์อันดีนั้น มาต่อยอดอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คือร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ทั้งสองฝ่าย
ด้าน สุวภา เจริญยิ่ง ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ผู้อยู่เบื้องหลังการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หนึ่งในวิทยากรบอกไว้ในเลกเชอร์ของเธอว่า “การบริหารจัดการเงินธุรกิจครอบครัวหลังวิกฤต ให้เริ่มต้นจากการเงิน การทำธุรกิจครอบครัวมักเริ่มต้นจากการช่วยเหลือกันภายใน แต่การทำงานแบบมืออาชีพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การเงินเป็นจุดตั้งต้น เพราะการเงินเป็นตัวเลข สามารถวัดและเปรียบเทียบสถานการณ์ของเรากับกรณีศึกษา เพื่อนำแนวทางมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสำเร็จต่อได้
นอกจากนี้ ประทินรัตน์ วัชรสินธุ์ ที่ปรึกษาด้านการจัดการและธุรกิจครอบครัว ยังมาแชร์คำถามยอดฮิตที่พบบ่อยในการจ้างงานและข้อตกลงว่าจ้างกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ให้ฟังว่า “ความท้าทายในการจัดการทรัพยากรบุคคลคือ สัญญาการจ้างงาน แม้ว่าสัญญาการจ้างงานเกิดได้จากการพูดคุยกันแบบปากเปล่า แต่การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือจุดเริ่มต้นในการสร้างความชัดเจน ทั้งในเรื่องของบทบาท เงื่อนไข ค่าตอบแทน สวัสดิการ และภาระภาษี ที่ชัดเจนเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้องค์กรและพนักงานตกลง อีกทั้งปรับเปลี่ยนให้เท่าทันสถานการณ์ ดังนั้นการมีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน คือความสบายใจของทุกฝ่าย ทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเป็นมืออาชีพให้แก่บริษัทด้วย
ติดตามบทสรุปอาวุธการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปใช้ได้จริง จาก 5 ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวและทายาท แบบเข้มข้น เจาะลึก จัดเต็ม ได้ที่ readthecloud.co
หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ชาย by กะฉ่อน รายงาน