ข่าวเหตุใดชาวไทยเหนือ-อีสาน เรียกครกกระเดื่องว่า “ครกมอง” ? - kachon.com

เหตุใดชาวไทยเหนือ-อีสาน เรียกครกกระเดื่องว่า “ครกมอง” ?
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

ในสังคมผู้บริโภคข้าว แต่เดิมมาท่านมีกรรมวิธีกะเทาะเปลือกข้าวให้หลุดล่อนออกเหลือแต่เนื้อเมล็ดข้าว โดยการโขลกหรือตำ เจ้าอุปกรณ์เพื่อการนี้ ภาษาไทยกลางท่านเรียกว่า ครกกระเดื่อง ทางอีสาน (รวมทั้งทางล้านนา) ท่านเรียกว่า มอง หรือ ครกมอง

แล้วทําไมต้องชื่อว่า ครกมอง

หากคำถามตามมาเช่นนี้ ถ้าตอบอย่างผ่า ๆ ก็เห็นจะต้องว่า เพราะผู้เฒ่าท่านนำพาเรียกขานเช่นนั้น แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของภาษา ก็สามารถมองกันได้หลายประเด็น

นันตพร ศิริขันธ์ เล่าไว้ใน “เว้าสาวตำข้าวที่ครกมอง” (มูนมังอีสาน. กรุงเทพฯ : เซนเตอร์ พับลิคเคชั่น, 2526 : 125.) ว่า

“คำว่า ครกมอง เข้าใจว่า มาจากการที่สาว ๆ ลงมาตำข้าวแล้วสายตาก็คอยกวาดมองหาหนุ่ม ๆ เท้าก็ตำครกกระเดื่องไป หนุ่ม ๆ ก็เฝ้าเมียงมองว่าสาวลงมาตำข้าวหรือยัง ด้วยเหตุที่หนุ่ม ๆ สาว ๆ ต่างก็คอยจ้อง ๆ มอง ๆ ซึ่งกันและกันนี้เอง จึงเรียกครกนี้ว่า ครกมอง หรืออาจหมายความว่า เวลาตำข้าวต้องคอยมองดูครกตลอดเวลา เพราะกลัวข้าวหกออกจากครกหรือสากตกลงไม่ถูกกลางครก ข้าวจะกระเด็นออกจากครกจึงเรียกครกมอง”

ผู้เขียนในฐานะผู้สนใจเรื่องมูนมัง (มรดก) ของอีสานอยู่ด้วย ใคร่เสนอข้อน่าพิจารณาจากบริบทหลาย ๆ ประการที่อาจช่วยอธิบายถึงที่มาของคำว่า ครกมอง ได้บ้างดังนี้

1. ลักษณะครกและการใช้งาน ไทยอีสานเรียกครกใบย่อม เช่น ครกที่ใช้ตำพริกในครัวว่า “ครก” (ไม่ปรากฏว่าเรียก “มอง” เลย) เรียกครกใบใหญ่ที่ใช้ตามพื้นดินว่า “มอง” หรือ “ครกมอง” ครกใบใหญ่มักจะขุดจากท่อนไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสักศอกหรือศอกเศษ สูงประมาณเหนือเข่าเล็กน้อย มีอยู่สองลักษณะคือ ชนิดที่ใบครกฝังตรึงลงพื้นดิน เหลือโผล่ขึ้นมาสักครึ่งแข้ง มีคานกระเดื่องเรียกว่า แม่มอง ปลายข้างหนึ่งของแม่มองมีสากติดตรึงด้วยลิ่ม ช่วงกลางค่อนไปทางปลายมีคานหมุน (fulcrum point) ช่วงนี้เรียกว่า แอวมอง (เอวมอง) ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งที่เรียกว่า หางมอง นั้น ใช้เป็นที่เหยียบลงน้ำหนัก เพื่อให้ตัวแม่มองกระเดื่อง เมื่อปลดน้ำหนัก สากที่ติดอยู่ปลายคานก็จะตกกระทบใบมอง

อีกชนิดหนึ่งเป็นครกใบใหญ่ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่ไม่นิยมยกไปใช้บนเรือน ใช้สากแบบมือถือ (รูป ร่างต่างจากโทรศัพท์มือถือมาก) ยืนตํา ครกอย่า นี้เรียกว่า มองมือ หรือ ครกมือ

มอง นอกจากจะถูกประดิษฐ์มาเพื่อใช้ตำข้าวแล้ว ยังใช้ทำอย่างอื่นจิปาถะ เช่น ตำผลตะโกดิบเพื่อนำยางมาย้อมแห ตำข้าวคั่วใส่ปลาร้า ตำแป้งทำขนมจีน ตำข้าวเหนียวนึ่งทำข้าวโป่ง (ข้าวเกรียบว่าว) ตำด้ายดิบ ตำปู ตำพริกคั่วเพื่อทำพริกป่น ตำข้าวเม่า ตำปลาคลุกเกลือเพื่อทำปลาร้า

2. การเรียกขาน เนื้อความในผญาวรรคหนึ่งมีว่า “สังบ่ไปกินข้าวหัวมองนำไก่” ความว่า ทำไมไม่ไปกินข้าว (ที่กระเด็นออกจากครก) ที่บริเวณหัวครกกระเดื่องกับพวกไก่นั้นเสียเล่า เราทราบว่าเป็นครกกระเดื่องก็เพราะว่า ครกชนิดนี้ มีหัว มีเอว และมีหาง ดังที่กล่าวมาจากข้อ 1. ในทางฉันทลักษณ์ของผญา เราสามารถแทนคำว่า “หัวมอง” ด้วย “หัวครก” กลายเป็น สั่งบ่ไปกินข้าวหัวครกนำไก่ ได้ แต่ธรรมเนียมการเรียกขานไม่อนุญาตให้กล่าวเช่นนั้น

3. มอง แปลว่า เบิ่ง คำพูดไทยอีสานที่หมายถึงกริยามองหรือคำนามว่าการดูนั้น มีอยู่หลายคำ ดังนี้

ก. เบ่ง แล ดู ซอม ส่อง จ้อง หลิว เหลียว แญง เล็ง จอบ แนม เบิด มืน มอง ทิ้ง

ข. หลิงลํา ลําแญง ลําเหลียว ลําแล แลเหลียว

คำในชุด ก. มักใช้พูดโดยทั่วไป และอาจนำมาซ้อนเข้าคู่เป็น เหลียวเบิ่ง จอบเบิ่ง แนมเบิ่ง ฯลฯ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่จะกล่าวถึง แต่โดยปกติถ้าต้องใช้คำที่มีความหมายว่าเป็นกริยา มอง ก็จะใช้คำว่า เบิ่ง เป็นหลัก

ส่วนคําในชุด ข. มักปรากฏในวรรณคดีคำผญา สุภาษิต ซึ่งรายละเอียดของการใช้มีปลีกย่อยอีกมาก

จึงน่าคิดว่า มอง ในคำว่า ครกมอง ไม่น่าจะหมายถึงการมองหรือการดู เพราะหาไม่แล้ว ไทยอีสานควรจะเรียกว่า ครกเบิ่ง ครกแล ครกดู ฯลฯ มากกว่าที่จะเรียกครกมอง อีกทั้งควรที่ภาษาไทยถิ่นกลางควรเรียกครกกระเดื่องว่า ครกมอง เสียเอง

4. ลักษณะของภาษา ภาษาตระกูลไต (Tai family language) เป็นภาษาคำโดด ซึ่งมักจะมีคำคู่ความหมาย (คำนี้พระยาอนุมานราชธนท่านเรียก คำซ้อน, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านเรียก คำคู่) ตัวอย่างคำคู่ความหมายในภาษาไทยกลางคำว่า เหนื่อยล้า ช้านาน บกพร่อง แปดเปื้อน เร็วไว เยอะแยะ ยุ่งยาก ใหญ่โต เล็กน้อย ฯลฯ

ถ้าดูความหมายของแต่ละคําที่ประกอบกันนี้ จะพบว่ามีความหมายใกล้เคียงกัน บางคำเมื่อแยกแล้วก็ยังคงมีความหมายอยู่ในภาษาถิ่น ในขณะที่ไทยกลางไม่นิยมใช้ เช่นคําว่า บกพร่อง ทั้ง บก และ พร่อง มีความหมายคล้ายกันโดยหมายถึง ลดลง น้อยลง คําว่า แปดเปื้อน ทั้ง แปด และ เปื้อน มีความหมายร่วมกันได้ด้วย คือหมายถึง เป็นรอย ติดสิ่งที่ทำให้เห็นเป็นรอยด่าง เปรอะ

จึงอดคิดไม่ได้ว่า ครกมอง ก็คงเป็นดังเดียวกับลักษณะของภาษา กล่าวคือ ทั้ง ครก และ มอง ต่างก็มีความหมายเดียวกันว่า เป็นเครื่องมือใช้โขลกตำ นำมาเข้าคู่กันเป็น “ครกมอง” หรืออาจเป็นเพราะว่าแต่เดิมในภาษาถิ่นไทยกลาง ไม่มีศัพท์คำว่า มอง ที่หมายถึง ครก อยู่เลย ในขณะที่ทางถิ่นอีสานและถิ่นเหนือ (ล้านนา) มีเฉพาะคำศัพท์ว่า มอง ยิ่งการปกครองยุคก่อนเป็นแบบรวมศูนย์อยู่ส่วนกลาง การจะสื่อความสิ่งใดเพื่อให้ทราบกันทั่วทุกถิ่น จึงผนวกเอาคำที่มีอยู่เดิมของถิ่นนั้นเข้าไปด้วย

มาในชั้นหลังนี้มีการแบ่งความหมายเด่นชัดขึ้น ถ้ากล่าวถึงครก ก็มักชวนให้คิดถึงครกใบเล็ก ๆ ถ้ากล่าวถึงครกมองหรือมอง ก็คิดถึงครกกระเดื่อง ไม่ได้ประหวัดไปถึงการมองหรือการดูเลย

นี่ถ้ามีผู้มาตีความแปดเปื้อน ว่าเปื้อนแปดอย่าง ผู้สืบทอดมูนมัง (มรดก) ทางภาษาอย่างคุณผู้อ่านจะว่าอย่างไร

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.silpa-mag.com/

.......

บารมีเหรียญพระเจ้าตากชาววัดอรุณ รุ่นกรุงธนบุรี ช่วยชีวิตหนุ่มใหญ่ให้รอดตายจากเหตุรถพลิกคว่ำ
https://sacred.kachon.com/353935

.......

ประมวลปาฏิหาริย์แห่งเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ(คลิ๊ก)
https://sacred.kachon.com/353522

.....

ร้านเช่าบูชาวัตถุมงคล by กะฉ่อนดอทคอม(คลิ๊ก)
https://shop.kachon.com

.....

แผนที่การเดินทาง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ
https://maps.app.goo.gl/bkTe1MN4d8v8hicW8
.....
https://lin.ee/C9eHtP8

 

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก