ข่าว“เว็ปเตอร์ลี” (李耀光: Lee Yao Guang) เซียนพระ หลวงปู่คำพันธ์ - อ.เปล่ง บุญยืน @ สิงคโปร์ - kachon.com

“เว็ปเตอร์ลี” (李耀光: Lee Yao Guang) เซียนพระ หลวงปู่คำพันธ์ - อ.เปล่ง บุญยืน @ สิงคโปร์
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้เคยทำวิจัยไว้ว่า ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในต่างประเทศ ธุรกิจพระเครื่องนั้นไม่ได้เฟื่องฟูเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์นั้นก็มีแผงพระเครื่องด้วย โดยในมาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ แต่ละรัฐมีแผงพระ ๒-๓ แผงเป็นอย่างน้อย ส่วนในสิงคโปร์มีแผงพระอยู่กว่า ๓๐๐ แผง

นอกจากนี้ในไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรป และสหรัฐ โดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่มีแนวโน้มว่าจะมีการตั้งแผงพระ เนื่องจากพระเครื่องนั้นเป็นที่นิยมในกลุ่มคนต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ ซึ่งบางเว็บไซต์ก็เป็นภาษาอังกฤษ และการเผยแพร่ข้อมูลของหนังสือพระเครื่องที่มีอยู่ถึง ๔๐ ฉบับในปัจจุบัน ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์

ที่สิงคโปร์ ในจำนวนร้านและแผงพระกว่า ๓๐๐ แผง ร้านและแผงแห่งหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่สุดคือ ร้านมงคลโชค ( Mongkon Chok Genuine Thai Amulets :吉祥运泰国正宗)ของ “เว็ปเตอร์ลี” (李耀光 : Lee Yao Guang)

กว่า ๑๐ ปี ที่ “เว็ปเตอร์ลี” เดินทางเข้าออกเมืองไทยกับสิงคโปร์ เพื่อเช่าซื้อพระสายหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ, อ.เปล่ง บุญยืน รวมทั้งทั้งพระสายอื่นๆนับล้านบาท ถึงขนาดที่อาจจะเรียกว่า “เซียนหลวงปู่คำพันธ์ เซียนอ.เปล่ง บุญยืน @ สิงคโปร์” ก็ว่าได้

“เว็ปเตอร์ลี” บอกว่า ตนเองเป็นคนสิงคโปร์เล่นพระเพราะเชื่อว่าพระมีพุทธคุณ แขวนแล้วหน้าที่การงาน ธุรกิจ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พระเครื่องที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นพระเครื่องที่เลื่องชื่อพุทธคุณด้านค้าขาย เมตตามหานิยม รวมทั้งโชคลาภ

ประโยคแรกที่ลูกค้ามักจะถามเสมอๆ ว่า “อู่ชินมิไกเพวาเวอร์” (ภาษาจีนฮ๊กเกี้ยน) ซึ่งหมายถึง “พระองค์นี้มีพุทธคุณเด่นด้านใด” แม้ว่าจะตอบเป็นภาษาไทยว่า “เมตตามหานิยม” คนสิงคโปร์ก็เข้าใจทันที ไม่ต้องอธิบายเป็นภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ

ส่วนพระเครื่องที่มีพุทธคุณด้านคงกระพันและเหนียวจะไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะเป็นประเทศที่ทำการค้าและเป็นประเทศที่สงบปลอดจากโจรผู้ร้าย อย่างกรณีพระหลวงปู่ทวด จะได้รับความนิยมของคนเก่าๆ ส่วนใหญ่จากวัยกลางคนขึ้นไป

ในการเรียกชื่อพระนั้น ชาวสิงคโปร์จะเรียกทับศัพท์เป็นภาษาไทยเลย แต่ก็มีภาษาเป็นตัวหนังสือจีนขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น หลวงปู่ทวดเขียนเป็นภาษาจีนว่า "中英文版" เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Luang Pu Thuat"

หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ เขียนเป็นภาษาจีนว่า龙婆笨/龙婆本 เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Luang Pu Pern Wat Bangphra) หลวงพ่อคูณ เขียนเป็นภาษาจีนว่า "龙婆冠" เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Luang Pu Koon" อาจารย์เปล่ง บุญยืน เขียนเป็นภาษาจีนว่า “阿占丙” ภาษาอังกฤษเขียนว่า “Ajahn Pleang” หลวงปู่คำพันธ์ เขียนเป็นภาษาจีนว่า “龙捕刊盘” ภาษาอังกฤษว่า “Luang Pu Khampan” เป็นต้น

การรับประกันซื้อคืน และพาผู้เช่านำพระมาส่งประกวด ส่งผลให้ลูกค้ามีความเข้าใจถึงความสำคัญของพระเก๊พระแท้มากขึ้น รวมทั้งราคาพระเครื่องที่เป็นมาตรฐาน สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ตลอดเวลา ส่งผลให้คนมาสะสมพระเครื่องทั้งที่หวังพึ่งพุทธคุณ และเป็นทรัพย์สินมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ มักจะถูกผู้ค้ารายเก่าๆ สวดเช่นเดียวกับในเมืองไทยคือไม่อยากให้ใครได้ดีกว่ากัน

สำหรับพระเครื่องที่ชาวสิงคโปร์เชื่อว่ามีพุทธคุณด้านโชคลาภนั้น “เว็ปเตอร์ลี” บอกว่า ต้องยกให้พระเครื่องหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กทม. พุทธคุณเด่นทางหน้าที่การงาน ชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เรียกพระปิดตาไม่ว่าสร้างจากวัดไหน และพระเกจิรูปใดสร้าง จะเหมารวมเรียกว่า พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะทั้งหมด เพราะกระแสความนิยมและความดังของพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะมีชื่อเสียงโด่งดังข้ามประเทศมานกว่า ๒๐ ปี แล้ว

“ไม่น่าเชื่อเลยว่า ความโด่งดังพุทธด้านแคล้วของพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ สมัยหนึ่งชาวสิงคโปร์คนใดที่แขวนพระปิดตาไม่ว่าจะหลวงพ่อองค์ใดก็ตาม จะถูกตำรวจเชิญตัวไปสอบสวนว่าเป็นอันธพาลหรือนักเลง ใครแขวนพระปิดตามีสิทธิ์ถูกจับ” “เว็ปเตอร์ลี” กล่าว

ส่วนพระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง พุทธคุณเด่นด้านโชคลาภ แต่ที่มาแรงสุดๆ ในขณะนี้ ทั้งที่มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง คือ อ.เปล่ง บุญยืน ฆราวาสผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “จอมขมังเวทย์มหาเสน่ห์แห่งแดนอีสาน”

“เว็ปเตอร์ลี” บอกว่า จากการศึกษาและประวัติ การสร้างเครื่องรางทุกชนิด พระเครื่องทุกรุ่นทุกพิมพ์ของท่านสร้างด้วยความพิถีพิถันทุกขั้นตอน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า เวลาทำวัตถุมงคลหรือเครื่องรางให้คนเอาไปใช้ ต้องทำให้เต็มที่ ไม่ให้เสียชื่อ เมื่อเรียนรู้จริง ทำได้จริงจึงกล้ารับประกัน วัตถุมงคลหรือเครื่องรางผงพรายที่ปลุกเสกผงพรายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และเป็นกุศลแก่พรายด้วย ไม่ได้ใช้พรายไปทำร้ายใคร

ด้วยเหตุผลนี้ อ.เปล่ง จึงได้นำคุณพรายเหล่านั้นมาสถิตอยู่ในวัตถุมงคลและเครื่องรางของท่าน จุดมุ่งหมายคือให้พรายเหล่านั้นได้มาช่วยผู้ที่ครอบครอง เพื่อให้พรายได้เกิดบุญและกุศลไปด้วย พรายไม่สามารถทำบุญเองได้ต้องอาศัยคนช่วยเหลือหรือทำบุญให้ การใช้พรายส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางเรื่อง “มหาเสน่ห์” และช่วยเหลือผู้ครอบครองให้สมความมุ่งมาดปรารถนา ในสิ่งที่ไม่เกินกรรมของบุคคลเหล่านั้น

พร้อมกันนี้ “เว็ปเตอร์ลี” ยังบอกด้วยว่า การเล่นสายพรายให้เฮี้ยนและขลังจำเป็นต้องท่องคาถาปลุกเสกพรายให้มีพลังด้วย พร้อมท่องคาถาให้ฟังได้อย่างแม่นยำว่า..“จิเจรุนิ นะมะพะทะ” หรือ “จิเจรุนิจิตตัง เจตตะสิกัง รูปัง นิมิตตัง กุมาโรวา เจ้ารัก เจ้ายม กุมารทอง พรายทอง อาคัจฉาหิ เอหิ เอหิ นะมะพะทะ”

ขณะเดียวกัน “เว็ปเตอร์ลี” ยังแนะนำด้วยว่า เมื่อได้โชคได้ลาภจากพราย ต้องหมั่นทำบุญถวายสังฆทานอุทิศส่วนบุญกุศลให้พราย จะได้มีพลังช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ ผู้ให้ก็จะกลายเป็นผู้รับสิ่งดีงามในไม่ช้าก็เร็ว อ.เปล่ง ไม่ได้กำหนดว่าต้องเซ่นไหว้หรือเลี้ยงด้วยอะไร แต่มีความเชื่อว่า การเลี้ยงพรายในวันโกนได้ผลมากกว่าวันอื่นๆ แต่ปัจจุบันเลี้ยงพรายและกุมารทุกวันเนื่องจากเขาให้คุณเราทุกวันเลยให้เขาทุกวันเช่นกันเป็นสิ่งตอบแทน

ในส่วนของประเด็นการรับซื้อคืน “เว็ปเตอร์ลี” บอกว่า การรับประกันซื้อคืนที่สิงคโปร์จะหักส่วนต่างไว้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ลูกค้ามีความใจถึงความสำคัญของพระเก๊พระแท้มากขึ้น รวมทั้งราคาพระเครื่องที่เป็นมาตรฐาน สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ตลอดเวลา ส่งผลให้คนมาสะสมพระเครื่องทั้งที่หวังพึ่งพุทธคุณ และเป็นทรัพย์สินมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้มักจะถูกผู้ค้ารายเก่าๆ สวดเช่นเดียวกับในเมืองไทย คือไม่อยากให้ใครได้ดีกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม “เว็ปเตอร์ลี” ยังบอกด้วยว่า ในอดีตผู้ขายพระมักจะพูดกรอกหูผู้เช่าพระเสมอๆ มีอยู่ ๒ ประโยค คือ “เช่าพระไปแล้วอย่าเอาพระมาให้เซียนพระในเมืองไทยดูเด็ดขาด เพราะถ้าขอซื้อแล้วไม่ขายให้จะถูกยิงทิ้ง”

ส่วนอีกประโยคหนึ่งคือ “เช่าพระไปแล้วอย่าไปเที่ยวอวดใครว่ามีของดี และห้ามนำพระมาส่งประกวดในเมืองไทยอย่างเด็ดขาด เพราะพระของท่านอาจจะถูกสับเปลี่ยน หรือกรรมการจะตัดสินให้เป็นพระเก๊”

๒ ประโยคดังกล่าวนี่เองทำให้คนสิงคโปร์เล่นพระผิดทางมานานแล้ว โดยเฉพาะพระสมเด็จน่าจะมีของแท้ไม่ถึง ๑% เพราะใครๆ ก็มีพระสมเด็จกันทั้งนั้น

ส่วนความศรัทธาพระเกจิอาจารย์ของชาวสิงคโปร์นั้น “เว็ปเตอร์ลี” บอกว่า กระแสความศรัทธา และความนิยมพระเกจิอาจารย์ของชาวสิงคโปร์เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศ ไทย รวมทั้งพระเครื่องและวัตถุมงคลสร้างใหม่ด้วย ทั้งที่เก่งจริงโดยไม่ต้องโปรโมต และ เก่งผ่านการโปรโมตของสื่อ

สำหรับพระเกจิอาจารย์ยอดนิยมในอันดับต้นๆ ของชาวสิงคโปร์ ซึ่งทุกครั้งที่มีการนิมนต์ไปสิงคโปร์ มีคนมากราบไหว้ขอพรและชมบารมีหลักหมื่นคน อันดับ ๑ คือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราช สีมา พระผู้ได้รับการขนานนามว่า "เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด"

“เว็ปเตอร์ลี” พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "จริงๆ แล้วพระเครื่องและวัตถุมงคลของประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมาก คนต่างชาติที่มาเช่าพระเครื่องส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องพระ มีเงินที่จะเช่าพระ แต่คนขายมักเห็นแก่เล็กแก่น้อยขายพระปลอมโดยบอกว่าเป็นพระแท้ ทำให้ผู้ซื้อขาดความเชื่อถือ คนเล่นพระในสิงคโปร์มักจะตีตราว่าคนไทยชอบขายพระปลอม ซึ่งเป็นเรื่องยากและใช้เวลานานในการสร้างความเชื่อถือเรื่องพระแท้ หากทำได้พระเครื่องจากเมืองไทยจะขึ้นสู่ตลาดระดับสากล"

ติดตามบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/TCRXZWvQUfc หรือเข้าชมพระได้ที่ https://www.facebook.com/mkcamulet/

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ชาย by กะฉ่อน  รายงาน