โค้งสุดท้ายยุทธศาสตร์สังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
กะฉ่อนวาไรตี้
มีบทกวีที่ว่ากันว่านักพัฒนาชุมชนมักจะดื่มด่ำมาเนิ่นนาน “อันสังคมขมหรือหวานสานต่อด้วย คนคอยช่วยด้วยแต่งเติมเสริมสร้างฝัน พัฒนาตนสู่สังคมร่วมมือกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมนั้นพลันยั่งยืน...” สะท้อนถึงแนวคิดความร่วมมือร่วมใจหรือที่ตำราวิชาการเรียกว่าพัฒนาแบบมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการทางสังคมที่ใช้เวลามากเท่าไรก็เข้าใจไม่หมด
หันมาทบทวนความเป็นไปของโลกปัจจุบันที่มีผู้คนอาศัยอยู่เฉียด 8พันล้านคน ขณะนี้ ล้วนมีความเหมือนและความแตกต่างกันในมุมมองแห่งมิติตามความต้องการของแต่ละบุคคล และเมื่อบุคคลเหล่านั้นได้มารวมตัวกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป มีการปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ภายใต้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งเป็นกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนอันเป็นบรรทัดฐานให้ยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เราสามารถเรียกกลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้ได้ว่า สังคม อันทรงความหมายว่า ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน
ประเทศไทยเป็นสังคมหนึ่งที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคล และจะต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ “ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน” ในการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การพัฒนาเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากสิ่งที่ไม่น่าพอใจไปหาสิ่งที่น่าพอใจ และความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นได้บนความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่จะคอยเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของบุคคล โดยส่วนใหญ่การพัฒนามักถูกมองเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ จนลืมไปว่าการพัฒนาทางด้านจิตใจอันเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้นั้นเป็นการพัฒนาอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศาสตร์ๆ หนึ่งของพระราชา ที่ทรงวางไว้เป็นแนวทางสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ของทุกเพศทุกวัยในหลากหลายอาชีพ เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท มี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง การยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน และความเพียร
หากคนทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีในตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญงอกงามบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง โดยไม่หวั่นไหวต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบกาย สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็ถือได้ว่าเป็นการนำเอาศาสตร์ของพระราชาเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อันพื้นฐานในการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน
การจะพัฒนาสังคมต้องมีการศึกษาสังคมให้เข้าใจ ซึ่งสังคมเป็นพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้และศึกษาสังคมเพื่อการพัฒนา จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เข้าใจสังคมว่าการพัฒนาต้องอาศัยรูปแบบในการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ จึงจะทำให้การพัฒนาดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน การพัฒนาสังคมจะสำเร็จลุล่วงถึงจุดหมายปลายทางได้นั้น ความสำคัญอยู่ตรงเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า การพัฒนาชุมชน มองมุมนี้ถือเป็นขบวนการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยประชาชนเข้าร่วมมือหรือริเริ่มเอง ถ้าประชาชนไม่รู้จักริเริ่มการใช้เทคนิคกระตุ้นเตือนให้เกิดการริเริ่ม เมื่อประชาชนเข้าร่วมมือกับรัฐจึงทำให้เกิดบทบาทและกรรมวิธีขึ้นอีกเพราะประชาชนต้องปรึกษาหารือกันเอง กำหนดความต้องการ วางโครงการเองแล้วก็ร่วมมือกันเอง แล้วร่วมมือกันปฏิบัติตามโครงการนั้นๆ เพราะว่าวิธีที่ประชาชนคิดทำเอง มีความสำคัญยิ่งกว่าผลงาน เป็นขบวนการที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงภาวะต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นนั้นเอง
ผึ้ง มด ปลวก สัตว์ตัวเล็กๆ ซึ่งสติปัญญาไม่อาจเทียบเคียงกับมนุษย์ผู้ประเสริฐได้เลย ยังสามารถที่จะสร้างและพัฒนาอาณาจักรของมันให้ยิ่งใหญ่ได้ ข้อนี้นักยุทธศาสตร์การพัฒนา ต้องมองไปที่ผลลัพธ์อย่าได้แพ้ เพราะโค้งสุดท้ายยุทธศาสตร์สังคมกับการพัฒนา อนาคตชุมชนอาจมมองไม่เห็น
หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ชายนพ by กะฉ่อน รายงาน