คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก “สถานที่ทำงานปลอดลูกน้ำยุงลาย”
กะฉ่อนวาไรตี้
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก “สถานที่ทำงานปลอดลูกน้ำยุงลาย” โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวรายงานความสำคัญการจัดกิจกรรม นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน และนายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แขกกิตติมศักดิ์ให้เกียรติมาร่วมงาน ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1
ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยถึงความตระหนัก ในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการพิจารณา สอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆที่เกี่ยวกับสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การส่งเสริมและพัฒนา ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสาธารณสุข กิจกรรมรณรงค์ป้องกัน โรคไข้เลือดออก “สถานที่ทำงานปลอดลูกน้ำยุงลาย” ที่จัดขึ้นในวันนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนัก ในการป้องกันตนเองของประชาชน สร้างความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยว่า โรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อได้ทุกที่ เนื่องจากมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายจะออกหากิน เวลากลางวัน ยุงจะกัดและดูดเลือดที่มีเชื้อไวรัสเดงกีจากผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก เมื่อยุงลายไปกัด คนใหม่ ก็จะถ่ายทอดเชื้อให้กับคนที่กัดรายต่อไป โดยเฉพาะสถานที่ทำงานซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ มีคนอยู่ร่วมกัน เป็นจำนวนมาก และมีกิจกรรมต่างๆในช่วงเวลากลางวัน มีโอกาสที่จะเกิดการติดต่อได้สูง ดังนั้นในทุกสถานที่ ทำงาน ควรมีมาตรการการดำเนินงานเพื่อควบคุมป้องกันโรค โดยดำเนินการลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโดยเฉพาะในฤดูฝน ด้วยการร่วมกันสำรวจและทำลายแหล่งน้ำขัง กำจัดเศษ ภาชนะที่ไม่ได้ใช้งานและมีน้ำขัง งดการใช้แจกันใส่น้ำปลูกต้นไม้พลูด่างหรือแจกันดอกไม้สด ซึ่งจะเป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลายที่อยู่ใกล้ตัว รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้เรื่องอาการป่วยที่ต้องสงสัยว่า จะเป็นโรคไข้เลือดออก ให้ประชาชนได้รับทราบถึงอาการที่ต้องไปรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลโดยได้เริ่มดำเนินการที่อาคารรัฐสภา ด้วยการกำจัดจุดเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น การงดปลูกพลูด่างในสถานที่ทำงาน การโรยทรายป้องกันลูกน้ำในแหล่งน้ำขัง เป็นต้น
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า จากสถานการณ์ โรคไข้เลือดออก ปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วย 19,804 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว 24 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 37.18 คน ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มว่าจะพบ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธ์ของยุงลายได้ คาดว่าจากเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน จะพบผู้ป่วยมากกว่า 10,000 ราย ต่อเดือน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดกิจกรรม“สถานที่ทำงานปลอดลูกน้ำยุงลาย”ในวันนี้ ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และความตระหนักในการป้องกันตนเองของประชาชน รวมทั้งมาตรการ การลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านเรือนและสถานที่สำคัญ และเพื่อสื่อสารความเสี่ยงการระบาดของโรค ไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนได้เข้าใจและตระหนักถึง ความสำคัญของโรคไข้เลือดออก และการป้องกันตนเองด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บห้อง สถานที่ทำงานให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซีกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้เสริมอีกว่า กรุงเทพมหานครได้ตระหนักถึงปัญหาโรคไข้เลือดออกมาโดยตลอด และมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมรณรงค์ โครงการนี้ รวมไปถึงการให้บริการในการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายทั้งในสถานที่ทำงานและที่บ้าน และอยากให้ ประชาชนได้ช่วยกัน โดยเริ่มจากที่พักอาศัยของตนเองก่อน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อ และแพร่กระจายในวงกว้างต่อไป เพราะถึงแม้ทางกรุงเทพมหานครจะมีมาตรการรองรับกับสถานการณ์เช่นนี้ ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันย่อมดีกว่าการมาแก้ไขภายหลังแน่นอน
หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ชายนพ by กะฉ่อน รายงาน