สัมมนาวิชาการ: พืชแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนมกับการพัฒนาเกษตรไทย
กะฉ่อนวาไรตี้

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดสัมมนาวิชาการครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568 ในหัวข้อ "พืชแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ที่ใกล้จะนำไปใช้ประโยชน์และการกำกับดูแล" เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม และประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำไปใช้ในภาคการเกษตร รวมถึงการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคนิคดังกล่าว พร้อมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการยืนยันความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
การสัมมนานี้ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจหลายโครงการ ดังนี้
1. พันธุ์ฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดกราโฟไลด์สูง: พัฒนาโดย ผศ.ดร. อนงค์ภัทร สุทธางคกูล และคณะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้เทคนิคการปรับแต่งจีโนมเพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญที่มีคุณสมบัติทางยา คาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ภายในกลางปี พ.ศ. 2569
2. พันธุ์มะเขือเทศต้านทานโรคเหี่ยวเหลือง: พัฒนาโดย ผศ. ดร.ธัญญ์วนิช ธัญสิริวรรธน์ และคณะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนครโดยใช้เทคนิค CRISPR/Cas9 เพื่อเพิ่มความต้านทานต่อโรคเหี่ยวเหลือง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการปลูกมะเขือเทศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. พันธุ์มะละกอที่ต้านทานไวรัสจุดวงแหวน: พัฒนาโดย ดร.ปิยนุช ศรชัย และคณะจากกรมวิชาการเกษตร โดยใช้เทคนิค CRISPR-Cas9 เพื่อสร้างมะละกอที่มีความต้านทานต่อไวรัสจุดวงแหวน ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตมะละกอทั่วโลก
4. พันธุ์สับปะรดตราดสีทองที่ป้องกันอาการไส้สีน้ำตาล: พัฒนาโดย ดร.พงศกร สรรค์วิทยากุล และคณะจากกรมวิชาการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีการแก้ไขยีน CRISPR-Cas9 เพื่อลดอาการไส้สีน้ำตาลในสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
5. การเปลี่ยนสีดอกพิทูเนีย: พัฒนาโดย ดร. ยี่โถ ทัพภะทัต และคณะจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้างเทคโนโลยีฐานสำหรับการปรับแต่งพันธุกรรมในพิทูเนีย เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสีดอกและสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ
6. การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567: ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมในภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยกรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศกระทรวงและประกาศกรมเพื่อรองรับการขอรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว
การสัมมนาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนมในการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีลักษณะเด่นต่างๆ เช่น ความต้านทานโรค คุณภาพผลผลิต และองค์ประกอบทางเคมี ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย และสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค
นอกจากนี้ การมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการขอรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก
หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม ชาย by กะฉ่อน รายงาน