ข่าวJCIE และ ERIA มอบรางวัล Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI) - kachon.com

JCIE และ ERIA มอบรางวัล Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI)
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.68 ศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น Japan Center for International Exchange (JCIE) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) จัดพิธีมอบรางวัล ‘นวัตกรรมแห่งเอเชียเพื่อผู้สูงวัยสุขภาพดี’ Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI) ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้างสรรค์และเผยแพร่นวัตกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยมอบรางวัลแก่ผลงานอันเป็นเลิศที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมสูงวัยในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก

การแข่งขัน HAPI ประจำปี 2567 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ได้รับใบสมัครจาก 12 ประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับเป็นปีที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากที่สุด โดยรางวัลเชิดชูเกียรตินวัตกรรมใน 3 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการเพื่อชุมชน และการส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง

นายอิซาโอะ คาโนะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JCIE) กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกสะท้อนถึงพัฒนาการเชิงบวก และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในภูมิภาค แม้การดูแลประชากรสูงวัยจะมีความท้าทาย แต่การที่จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงว่าผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และมีชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้น

โดยผู้ชนะเลิศรางวัล HAPI ประจำปี 2567 สร้างสรรค์และพัฒนาหลากหลายแนวทางในการส่งเสริมสังคมสูงวัยสุขภาพดี ประกอบด้วย

• สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ Nurse & Craft ญี่ปุ่น พัฒนาโครงการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเพื่อการฟื้นฟูเมือง ‘Home Nursing to Regenerate the Town’ ซึ่งผสมผสานการให้บริการด้านสุขภาพเข้ากับการฟื้นฟูชุมชน

• สาขาโครงการเพื่อชุมชน ได้แก่ Padyarescue Inc. ฟิลิปปินส์ พัฒนาโครงการ Go Bike Project ในโปรแกรม Ronda Kalusugan นำเสนอนวัตกรรมในการให้บริการด้านสุขภาพชุมชน

• สาขาการส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ได้แก่ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย พัฒนา MEDEE โครงการเสริมสร้างทักษะการทำงานสำหรับผู้สูงวัยในยุคดิจิทัล เพื่อตอบสนองความจำเป็นในการส่งเสริมการเข้าถึงดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย

"การแข่งขันทำให้เราเห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งผู้ชนะเลิศรางวัล HAPI นำเสนอแนวทางในการจัดการกับปัญหาและความท้าทายดังกล่าว ทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัยและด้านอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตในบ้านของตนเองหรือสถานที่ที่พวกเขาเลือกเองได้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสร้างหลักประกันว่าประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยมีความพร้อมในเรื่องของบุคลากรผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี พร้อมทั้งให้การยอมรับความสำคัญในการทำงานของผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการซึ่งก็คือ สมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ เรายังเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดจากการที่ประชากรมีอายุมากขึ้น เช่น การป้องกันการแยกตัวจากสังคม และความท้าทายที่เกิดจากการลดลงของประชากร โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท" นายอิซาโอะ คาโนะ กล่าวเพิ่มเติม

ในปีนี้ มีหน่วยงานจากประเทศไทยและฟิลิปปินส์ส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานจากฟิลิปปินส์ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรก และการแข่งขันในปีนี้ยังมีการนำเสนอแนวคิดที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองได้

HAPI ให้ความสำคัญกับประเด็นหลากหลายในการรับมือกับสังคมสูงวัย รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตในสถานที่ที่ต้องการ การพัฒนาบุคลากรผู้ดูแลที่มีการฝึกอบรมอย่างดี การสนับสนุนผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการ และการป้องกันการแยกตัวจากสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท โดยตระหนักว่าประชากรสูงวัยเป็นเรื่องของสังคมส่วนรวมที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคส่วนและระหว่างวัย

“ความสำเร็จของ HAPI เกิดจากความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่าง JCIE และ ERIA โดย ERIA มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งในอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนโครงการ อีกทั้งความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยของ ERIA ยังช่วยสร้างรากฐานทางปัญญาผ่านการศึกษาเกี่ยวกับสังคมสูงวัยในระยะยาว ซึ่งช่วยส่งเสริมการหารือและนวัตกรรมการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมสูงวัย” นายอิซาโอะ คาโนะ กล่าวสรุป

JCIE และ ERIA ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักว่าแต่ละประเทศมีอัตราการเข้าสู่สังคมสูงวัยแตกต่างกันและเผชิญความท้าทายเฉพาะตัว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปีพ.ศ. 2549 สามารถแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่บางประเทศที่เผชิญความท้าทายจากการ "แก่ก่อนรวย" กำลังพัฒนาแนวทางนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภูมิภาค

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน