ข่าวสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยข้อมูล สามระยะการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ ปกป้องประชาชนถูกหลอกลวง และเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรัฐ - kachon.com

สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยข้อมูล สามระยะการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ ปกป้องประชาชนถูกหลอกลวง และเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรัฐ
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

วันนี้ 25 ส.ค.2565 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ( ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย) ได้เปิดเผยข้อมูลการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ และให้ความรู้เพิ่มศักยภาพทั้งประชาชนและหน่วยงานต่างๆเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ และร่วมกันแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ ซึ่งได้จัดมาตรการแบบแผนไว้ 3 ระดับ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการปราบปรามและช่วยเหลือ ประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ มีข้อด้อยของการปฏิบัติหน้าที่จากหน่วยงานรัฐเช่น ไม่มีหน่วยงานหลักที่มีบทบาทเฉพาะรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ประกอบกับหน่วยงาน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีบุคลากรในการปฏิบัติงานที่จำกัด และไม่มีหน่วยงานประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาค อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และมีกลไกคณะอนุกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และสรรพากรพื้นที่เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ แต่หน่วยงานดังกล่าวยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้การปฏิบัติงานในการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิด จึงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร / กระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกว่าที่ผู้เสียหายจะได้รับความช่วยเหลือจากการถูกฉ้อโกงและถูกหลอกลวงมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่กระบวนการยุติธรรมจะถึงที่สุดเช่น ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลใดเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 มีหนี้สิน ล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลาย จะดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้ ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง / มาตรการป้องกันทางกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เช่น พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในเชิงรับไม่ใช่เชิงรุก ประกอบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแสของการกระทำความผิดในปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและผู้แจ้งเบาะแสไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงไม่กล้าปฏิบัติงานกลัวจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี / กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่ทันกับสภาวการณ์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผู้ต้องหาในการกระทำความผิดมีการใช้สกุลเงินดิจิทัลเข้ามาเป็นสื่อในการหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงินสกุลดิจิทัลเป็นไปด้วยความยากลำบาก การตรวจยึดเงินสกุลดิจิทัลทำได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วโลก การเข้าถึงพยานหลักฐานทำได้ยากเพราะหลักฐานอยู่ที่ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่ถูกหลอกลวง มีความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ ไม่เชื่อว่าตัวเองถูกหลอกลวง จึงไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและไม่ยอมเป็นพยานในคดี / กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันแม้จะสันนิษฐานได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน แต่ถ้ายังไม่มีผู้เสียหาย พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เว้นแต่จะมีผู้เสียหายหรือมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ / ระเบียบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีความยุ่งยากซับซ้อนในการใช้อำนาจระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช กล่าวต่อว่า และที่ปัญหาที่สำคัญคือปัญหาที่ประชาชนหลอกประชาชนด้วยกันเอง ยกตัวอย่าง ผู้เสียหายบางรายรู้ว่าถูกหลอกลวงแต่ก็มีการยินยอมสมัครใจเข้าเป็นสมาชิกในลำดับต้นๆ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับในอัตราที่สูง และเมื่อไปหาสมาชิกเพิ่มก็จะได้รับค่าคอมมิสชั่น โดยคิดว่าเมื่อเข้าไปแล้วพอได้ผลตอบแทนเกินกว่าที่ลงทุนก็จะออกมา

ที่ผ่านมา ตนเองในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางมาตรการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง สภาทนายความ ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อร่วมจัดทำโครงการรับฟังความคิดเห็นการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยได้มีการจัดประชุมการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพิจิตร จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสงขลา

ส่วนแผนการดำเนินแนวทางมาตรการการแก้ไขปัญหาการป้องกัน ปราบปรามและช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ตามนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ของรัฐบาล ที่จะต้องทำใน 1 ปี การแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้มีการจัดประชุมเพื่อศึกษาแนวทางมาตรการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ จำนวน 4 พื้นที่ มีการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น การแก้ไขปัญหาในระยะยาว การแก้ไขปัญหาในระยะกลาง ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ และการเงินนอกระบบ และคณะพนักงานสอบสวน 2 ) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ ตรวจสอบการทำงานของทั้งสองหน่วยงานว่าปัจจุบันมีปัญหาอะไรมีประสิทธิภาพข้อบกพร่องอย่างไร 3 )ปรับปรุงบทบาทภารกิจโครงสร้างของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมเพื่อทดแทนการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ 4 ) มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5) ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัดอาจจะเป็นศูนย์ดำรงค์ธรรมหรือ หน่วยงานอื่นใดให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

การแก้ไขปัญหาระยะกลาง 1 ) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาคร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ 2 ) มีกระบวนการพิสูจน์ทราบเบื้องต้นว่าบุคคลใดเป็นผู้เสียหายโดยไม่ต้องรอจนกว่ากระบวนการทางกฎหมายถึงที่สุด 3 ) ให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ชักจูงในระดับบนไว้ในฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐเพื่อให้ผู้เสียหายในระดับล่างสามารถเข้าไปตรวจดูข้อมูลของบริษัทดังกล่าวว่าwด้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 4 ) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมาปราบปรามแชร์ลูกโซ่ขึ้นมาโดยเฉพาะ 5 ) ให้ใช้กลไกของกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่เดิมก่อนแล้วพิจารณาตัวบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาติดขัด เรื่องอะไร

การแก้ไขระยะยาว 1 ) ต้องมีการแก้โขร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแทนให้ทันกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป 2 ) ให้มีร่างกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายของภาคประชาชนคู่ขนานกัน นำเข้าสภาเพื่อให้การขับเคลื่อนของร่างกฎหมายฉบับนี้มีประสิทธิภาพ 3 ) ให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบในเรื่องนี้

โดยเฉพาะมีบุคลากรที่มีอำนาจหน้าที่โดยจัดการเรื่องร้องเรียน One stop service จนจบกระบวนการ ให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาความเศรษฐกิจเฉพาะใช้พิจารณากับการกระทำความผิดในลักษณ์แชร์ลูกโซ่แทนการใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งใช้กับการกระทำความอาญาทั่วไป นายสามารถ กล่าวทิ้งท้าย

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน