ข่าวพ่อเมืองนครปฐมกำชับ ผอ สำนักพุทธ ท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวปีใหม่ หลังไหลมากราบไหว้ขอพรที่วัดดังนครปฐม - kachon.com

พ่อเมืองนครปฐมกำชับ ผอ สำนักพุทธ ท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวปีใหม่ หลังไหลมากราบไหว้ขอพรที่วัดดังนครปฐม
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2564 นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ร่วมหารือกับ นางกาญจน์กุระ ฮัยสคาเนน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครปฐม นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐมในการเร่งดำเนินการตรวจตรามาตรฐานการป้องกันโควิด19 สำหรับวัดต่างๆที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอพรรวมถึงสถานที่ทางวัฒนธรรม ในการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย หรือ SHA

ในวันดังกล่าว นางกาญจน์กุระ ฮัยสคาเนน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม ร.ต.ต.พสิษฐ์พงษ์ ชมเกล็ดแก้ว รอง สว (ป.)ส.ทท.1 กก.1บก.ทท.3 และ น.ส.กรองแก้ว ตาลเจริญ นักวิเคราะห์นโยบายชำนาญการ ร่วมเดินทางไปยังวัดไร่ชิง ตำบลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อมอบตราสัญลักษณ์ SHA ซึ่งเป็นตราบ่งบอกถึงความมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านการควบคุมโรคระบาดการแพร่เชื้อโควิด19 ให้กับทางวัด โดยมีเลขาธิการเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นผู้มารับมอบ

นางกาญจน์กุระ ฮัยสคาเนน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ทางนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครปฐม ทำการตรวจตรามาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล และวันหยุดปีใหม่นี้ พร้อมได้มอบตราสัญลักษณ์ SHA เพื่อแสดงให้วัดต่างๆที่ได้เตรียมความพร้อมและขอการรับรองเพื่อเห็นว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแล้ว สำหรับวัดไร่ชิง เป็นวัดพระอารามหลวงที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของจังหวัดนครปฐมที่มีนักท่องเที่ยวมาสักการบูชาเป็นจำนวนมาก เป็นวัดแรกในจังหวัดนครปฐมที่ร่วมรณรงค์งดการจุดธูปเทียนเพื่อลดมลภาวะต่างๆในสภาวะแวดล้องทางอากาศ โดยการมอบตรา SHA นั้นเหมือนเป็นการช่วยให้นักท่องเที่ยวเกิดความสบายใจในการเดินทางมากราบไหว้พระและสืบสานเทศกาลปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงอีกด้วย

ด้านนายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม กล่าวหลังลงพื้นที่ได้ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของวัดชื่อดังที่ได้ขอตรามาตรฐานความปลอดภัยหรือSHA พบว่าแต่ละวัดได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด19 อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีวัดชื่อดังในจังหวัดนครปฐมอีก 6 แห่งที่ได้การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยหรือ SHA ไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ 1) วัดพะเนียงแตก ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ประวัติคร่าวๆ แต่เดิมไม่ใช่ชื่อ "วัดพะเนียงแตก" เหตุมาจากที่หลวงพ่อทาชอบเล่นพลุไฟพะเนียง วันหนึ่งในงานเทศกาลประจำปีของวัด ท่านเอามือไปปิดปากพลุไม่ให้พลุออกมาทางปาก จึงระเบิดออกทางด้านข้าง แต่ท่านไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ เลย ที่ทำเช่นนี้ ท่านต้องการให้พวกนักเลงหัวไม้เกรงขาม จะได้ปกครองและอบรมให้เป็นคนดีได้ ซึ่งก็เป็นดังนั้น ในงานเทศกาลประจำปีของวัด ไม่เคยต้องอาศัยตำรวจเลย เพราะไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นสักครั้งเดียว จนชาวบ้านให้ฉายาว่า "หลวงพ่อพะเนียงแตก" และเรียกชื่อวัดว่า "วัดพะเนียงแตก"

2) วัดดอนหวาย บ้านโคกหวาย ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประวัติคร่าวๆ เดิมชื่อ วัดโคกหวาย เพราะสร้างวัดบริเวณเนินสูงที่มีต้นหวายจำนวนมาก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดคงคารามดอนหวาย" และ "วัดดอนหวาย" คำว่า คงคา มาจากการที่วัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน วัดดอนหวายสร้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับวัดไร่ขิง บริเวณวัดเดิมเป็นที่ตั้งของโรงหีบอ้อยซึ่งมีชาวจีนเป็นเจ้าของ ภายหลังได้ยกที่ดินให้สร้างวัดจำนวน 9 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ผู้ริเริ่มสร้างวัดคือ สมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) โดยใช้ช่างจากอยุธยาและประชาชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2349 ต่อมาเจ้าคุณธรรมราชานุวัตร (อาจ) ดำเนินการสร้างวัดจนเสร็จ ประชาชนมักมาไหว้ขอพรหลวงพ่อวิไลเลิศซึ่งประดิษฐานเป็นองค์ประธานภายในอุโบสถ รวมถึงหลวงพ่อวิสาหาร พระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีค่อนข้างสูง และที่วัดยังมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ที่ศาลาด้านข้างตลาดริมน้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวตลาดน้ำดอนหวายในวันหยุดเป็นจำนวนมาก โดยตลาดน้ำดอนหวายนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

3) วัดสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จุดเด่นมีสถาปัตยกรรมที่แปลกตา คือผสมผสานศิลปะไทยและจีนไว้ด้วยกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน พุทธศาสนิกชนเดินทางมาทำบุญ กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือศีล และปฏิบัติธรรม รวมทั้งเที่ยวชมสิ่งก่อสร้างสำคัญของวัด คือ กุฏิพญามังกรตะกายฟ้า สูง 80 เมตร เปรียบเสมือนพรรษาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มี 16 ชั้น เป็นกุฏิทรงกลม ด้านนอกของกุฏิ มีมังกรสีเขียวขนาดใหญ่ พันรอบตัวอาคารจากด้านล่างไปจนถึงยอดตึก บันไดทางเดินเป็นลักษณะอุโมงค์ ด้านบนเป็นจุดชมวิว ในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานองค์เล็กที่สุดและมากที่สุดในโลก 1,250 องค์

4) วัดไร่ขิง ตำบลถนนขาด อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ประวัติคร่าวๆ การก่อตั้งวัดไร่ขิงนี้มีหลายตำนานตามความเชื่อ เป็นวัดสำคัญตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน (เรียกอีกชื่อว่าแม่น้ำนครชัยศรี) ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างโดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์ (พุก)" มีหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือ เดิมเป็นวัดราษฏร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

5) วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ประวัติคร่าวๆ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ภายในวัดมีองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ในลานชั้นลดด้านทิศใต้องค์พระปฐมเจดีย์และพระอุโบสถมีพระประธาน พระพุทธรูปศิลาขาว ซึ่งเป็นสองในสี่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม ที่สร้างขึ้นในยุคทวารวดี

6) วัดกลางบางแก้ว ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ประวัติคร่าวๆ วัดกลางบางแก้วเดิมมีชื่อว่า วัดคงคาราม คนทั่วไปแถบนครชัยศรีมักเรียกว่า วัดกลาง จากหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายและเจริญรุ่งเรืองในยุครัตนโกสินทร์ตราบจนปัจจุบัน ในอดีต อุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติที่งดงามมาก โดยเฉพาะตอนมารผจญ โดยสมัยก่อนที่วัดมีชื่อเสียงอย่างมากด้วยเจ้าอาวาสที่เป็นหนึ่งในสุดยอดพระเกจิอาจารย์ อย่าง หลวงปู่บุญหรือท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ) ซึ่งปกครองวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2429–2478 และหลวงปู่เพิ่ม พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน) โดยนักท่องเที่ยวและสายสะสมเครื่องรางมักเดินทางไปเช่าตะกรุด เบี้ยแก้ ที่มีชื่อเสียงของวัดนี้

7) วัดไผ่ล้อม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ประวัติคร่าวๆ สันนิษฐานกันว่าสร้างวัดไผ่ล้อมขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุคนั้นได้มีการเกณฑ์ชาวมอญที่อยู่ใต้โพธิสมภารมาช่วยกันบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ชาวมอญได้พักอาศัยอยู่บริเวณสวนป่าไผ่ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาบริเวณนั้นร้างผู้คน ดงไผ่ขึ้นหนา พระภิกษุผู้แสวงหาธรรมหลายรูปต่างจาริกมาวิเวก ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเห็นว่า สถานที่บริเวณนี้สมควรตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จึงได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดพระปฐมเจดีย์มาจำพรรษาเป็นครั้งคราว เมื่อมีภิกษุจำพรรษามากขึ้น ชาวบ้านได้ช่วยกันถางป่าไผ่เพื่อไปทำที่อยู่อาศัย จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็บริเวณรอบ ๆ วัดเท่านั้น ภายในวัดยังมีวิหารประดิษฐานสังขารหลวงพ่อพูล พระมงคลสิทธิการ (พูล อตฺตรกฺโข) อดีตเจ้าอาวาส และพระเกจิชื่อดัง ที่มีชื่อเสียงในด้านสักยันต์ ที่มีลูกศิษย์ลุกหานับแสนๆคน ปัจจุบันมีลุกศิษย์เอกของหลวงพ่อพูลอย่าง พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เป็นเจ้าอาวาสฯ

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน