ข่าวเร่งขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ - kachon.com

เร่งขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมกัน เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อร่วมกันกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและรูปแบบการรับรองมาตรฐานให้แก่กลุ่มวิชาชีพไมซ์ และกระตุ้นให้ภาคเอกชนจัดส่งบุคลากรในวิชาชีพไมซ์เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผลักดันให้เป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์และสร้างมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิแรงงานของช่างไฟฟ้าในประเทศไทย เพราะด้วยการเปิดการค้าเสรีทำให้มีต่างชาติเข้ามาจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยมากขึ้นและมักจะนำผู้รับเหมาต่างชาติเข้ามาดำเนินการด้วย รายได้ที่เข้าสู่ประเทศจะมีเฉพาะค่าพื้นที่และค่าที่พัก ส่วนรายได้อื่น เช่น ค่าแรงงาน ค่าออกแบบก่อสร้างและตกแต่งบูธ การจัดการระบบไฟฟ้าต่างๆ เป็นของผู้รับเหมาต่างชาติที่เข้ามา ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากส่วนนี้ อีกทั้งผู้ประกอบการไมซ์ของประเทศไทยจะไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในการจัดงานระดับสากล จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานในด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานฝีมือไทยได้รับการยอมรับและสร้างมาตรฐานการทำงานในอุตสาหกรรมไมซ์ ผู้ประกอบการไมซ์จึงได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมไมซ์ทั้งต่อผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน จึงเห็นควรให้เริ่มดำเนินการการรับรองความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพในสาขาที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิคแสงเสียงและภาพ และคนขับรถยก ก่อนเพื่อส่งเสริมให้การทำงานในด้านดังกล่าวมีมาตรฐาน

นางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สสปน. และในฐานะประธานคณะประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาตรฐานสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้า (MICE: Meetings Incentive Conventions Exhibitions) กล่าวว่า “ปัจจุบันการขับเคลื่อนพัฒนามาตรฐานได้ประสบความสำเร็จ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีมติเห็นชอบการพัฒนายกระดับมาตรฐานสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้า (MICE: Meetings Incentive Conventions Exhibitions) และเห็นชอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบระดับ ๑-๓ และวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ ๑ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้า (MICE: Meetings Incentive Conventions Exhibitions) เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ และได้จัดทดลองทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรองช่างไฟฟ้าไมซ์ระดับ ๑ แล้วรวม ๙๒ ราย”

คุณประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมแสดงสินค้า (ไทย) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้มาตรฐานดังกว่าเป็นมาตรฐานแบบส่งเสริม ไม่ใช่มาตรฐานฯ แบบควบคุมเหมือนกฎหมายควบคุมช่างไฟฟ้าในอาคารที่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งใช้บังคับถึงกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในอาคาร รวมถึงการจัดกิจกรรมไมซ์ด้วย หากแต่ในความเป็นจริง เนื้องานของช่างไฟฟ้าไมซ์นั้นแตกต่างอย่างชัดเจนกับช่างไฟฟ้าในอาคาร และมีผลกระทบความปลอดภัยของสาธารณชนในการเข้าร่วมงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งการเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรฐานดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในด้านความปลอดภัย และสิทธิประโยชน์คุ้มครองแรงงานไทย สร้างความเชื่อมั่นความพร้อมของประเทศไทยในการจัดงานแสดงสินค้าที่หลังจากเปิดประเทศแล้ว มีงานแสดงสินค้าเริ่มมีการจัดงานขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และต่างจังหวัดโดยเฉพาะในเมืองไมซ์ซิตี้ที่มีความพร้อมด้านการจัดงานไมซ์ ซึ่งทางสมาคมฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของบคุลากรด้านทักษะ จึงได้หารือเพิ่มเติมกับทางอาชีวศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านไฟฟ้า เข้าร่วมสนับสนุนโครงการเพื่อให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้มีทักษะเพิ่มเติมด้านช่างไฟฟ้าไมซ์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการประกอบอาชีพในอนาคตของเยาวชนไทย”

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับต่อสถานประกอบกิจการ/นายจ้าง

๑. ลดอัตราความเสียหาย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุและการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

๒. เพิ่มคุณภาพการให้บริการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

๓. ใช้คัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือและทัศนคติที่มีต่อการทำงาน เข้าปฏิบัติงานในองค์กร เพราะว่ามาตรฐานที่ถูกร่างขึ้นมานั้นนำมาจากหลักทฤษฎีและเชื่อมโยงไปสู่แนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมไมซ์

๔. ใช้กำหนดเส้นทางอาชีพ (Career path) ให้กับพนักงานในองค์กร ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน และเห็นโอกาสในการเติบโตขึ้นไปขั้นที่สูงกว่าได้ รวมถึงการกำหนดอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมกับความรู้และความสามารถ

พนักงาน/ลูกจ้าง

๑. ช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อช่างไฟฟ้าจากการปฏิบัติงานตามมาตรฐานฯ

๒. ทราบระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถของตน และได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

๓. เพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เนื่องจากนายจ้างเชื่อมั่นในฝีมือ

๔. มีแนวทางวางแผนการพัฒนาฝีมือแรงงานของตนตามความสามารถของตำแหน่งงานที่จะเลื่อนระดับขึ้น เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพและได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น

ผู้จัดและผู้เข้าร่วมงานไมซ์ : ลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากงานไฟฟ้าในระหว่างการจัดงานหรือเข้าร่วมงานไมซ์

นางอรชร ว่องพรรณงาม ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐาน มีแผนพัฒนาทั้งหมด 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ผู้ที่มีฝีมือและความรู้พื้นฐานในการทำงาน ที่ต้องมีหัวหน้าช่วยให้คำแนะนำหรือช่วยตัดสินในเรื่องสำคัญเมื่อจำเป็น ระดับ ๒ ผู้ที่มีฝีมือระดับกลาง มีความรู้ความสามารถ ทักษะการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ได้ดี และมีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถให้คำแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ระดับ ๓ ผู้ที่มีฝีมือระดับสูง สามารถวิเคราะห์ ตัดสินใจแก้ปัญหา นำความรู้และทักษะมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีใหม่ได้ ซึ่งต้องเร่งเพิ่มจำนวนผู้ผ่านการรับรองเพื่อรองรับธุรกิจไมซ์ในอนาคตหลังโควิด โดยในปี 2565 คณะกรรมการวางแผนพัฒนาหลักสูตรสำหรับระดับ 2 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้สนใจเข้าสอบระดับ 2 ได้ในช่วงปลายปี 2565

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน