ข่าวTIJ จับมือ สถาบันนิติวัชร์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ฯ ส่งต่อเครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็กสู่การปฏิบัติ - kachon.com

TIJ จับมือ สถาบันนิติวัชร์ เปิดตัวยุทธศาสตร์ฯ ส่งต่อเครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็กสู่การปฏิบัติ
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

เวทีเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็ก : ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฯ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเปิดตัวคำแปลยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ฉบับภาษาไทย (United Nations Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice) โดยมุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการคุ้มครองเด็ก สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองจากปัญหาความรุนแรงทั้งที่เกิดขึ้นในบริบททั่วไป และในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของสหประชาชาติ ยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ มุ่งหวังว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และอดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวถึง “ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ การขจัดความรุนแรงต่อเด็ก” ตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 ที่สหประชาชาติได้จัดทำรายงานที่พูดถึงการขจัดความรุนแรงต่อเด็กครั้งแรก จนกระทั่งในปี ค.ศ.2012 ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในด้านการผลักดันนโยบาย ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ สมัยที่ 21 อีกทั้งในปีนั้น ยังมีรายงานเกี่ยวกับ การป้องกันและการสนองต่อการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการพินิจ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก (Special Representative of the Secretary-General on Violence against Children) นับเป็นปีแรกที่เน้นการพูดถึงความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ ประกอบกับในขณะนั้นก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการเจรจาปฏิญญาระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องหลักนิติธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีการหารือกันถึงกระบวนการยุติธรรมในภาพใหญ่ จึงเป็นปีที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่สำคัญ ยังเป็นปีที่มีการเชิญชวนให้คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติได้พิจารณายกกร่าง model strategies and practical measures อีกด้วย

นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เน้นย้ำว่า ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้น ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น ในชั้นสอบสวน ไกล่เกลี่ย หรือสืบพยาน ต้องตระหนักเสมอว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดของเด็ก และ “ต้องคิดโดยเอาตัวเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่คิดจากมุมมองของเราเอง”

ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ยังอธิบายเนื้อหาสำคัญในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ เริ่มจากการห้ามมิให้กระทำความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ และการให้ความสำคัญกับงานวิจัยและเก็บข้อมูล อีกทั้งปัจจุบัน ในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องพูดถึงแนวทางการพัฒนาความสามารถและศักยภาพของระบบยุติธรรมทางอาญา เพื่อตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเพื่อคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเชื่อมประสานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อเด็กซ้ำ

การป้องกันและการตอบสนองต่อความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม เป็นอีกประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ที่นางสันทนี กล่าวถึง นั่นคือการพยายามลดจำนวนเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือ การป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 12 ปี หากกระทำความผิดแล้ว ไม่ควรรับโทษทางอาญา ซึ่งประเทศไทยกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาตามหลักการในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ จากเดิมที่กำหนดไว้อายุไม่เกิน 10 ปี

นางวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการทำงานของศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง หรือ ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ซึ่งเป็นทำงานอย่างบูรณาการของสหวิชาชีพ โดยระบุว่า รูปแบบของการทำงานสหวิชาชีพถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็กมากที่สุด ไม่ว่าเด็กจะเป็นผู้กระทำ หรือ ผู้ถูกกระทำก็ตาม โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานร่วมกับ ตำรวจ อัยการ เพื่อเน้นการแก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุ คือ เมื่อพบความรุนแรงต่อเด็ก ก็จะต้องหาข้อเท็จจริงเรื่องราวมีที่มาที่ไป หาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในชั้นสอบสวนที่อาจจะไม่ได้สัมผัสกับเด็กมากนัก เด็กที่ได้รับความรุนแรง หรือ ครอบครัวที่ได้รับความรุนแรงจะได้รับการช่วยเหลือ 3 ส่วนหลัก คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ ด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการทางสังคม และด้านกฎหมายและการคุ้มครองสวัสดิภาพ

ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 หนึ่งในทีมที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทยในการอนุวัติยุทธศาสตร์ ต้นแบบฯ กล่าวถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ว่า แม้เด็กจะเป็นผู้กระทำความผิด แต่ต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความประณีต คนในกระบวนการยุติธรรมต้องรู้เท่าทัน ในกรณีที่เด็กกระทำผิดจริง ต้องรู้เท่าทันเด็กที่มีพื้นฐานความรุนแรงจริง ๆ โดยไม่ปล่อยเด็กเหล่านี้ออกไปง่ายๆ เพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อสังคมและต่อตัวเด็กเอง ดังนั้น ต้องมีวิธีแก้ไข ฟื้นฟู เด็กกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ

หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมกันแปล “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” ฉบับภาษาไทยขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานในการใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองและขจัดความรุนแรงต่อเด็ก บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ อันเป็นหัวใจหลักของการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านนี้ รวมถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

Ms. Valerie Lebaux ผู้อำนวยการส่วนงานยุติธรรม สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวถึงความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก เพราะแม้ว่า เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง การล่วงละเมิด และการแสวงประโยชน์ ที่มีอยู่ในมาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) แต่ก็ยังคงมีประเด็นที่เด็กเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ ในเดือนธันวาคม 2014 โดยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะจัดการกับความรุนแรงต่อเด็ก ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา

ทั้งนี้ Ms. Valerie ยังได้กล่าว ถึงประเทศไทยในฐานะผู้นำในกระบวนการยกร่างยุทธศาสตร์ ต้นแบบฯ ตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของประเทศไทย และเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับภาษาไทยจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณค่าสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหวังว่ารัฐสมาชิกจะสามารถนำแนวทางไปประยุกต์เป็นเครื่องมือ โดยปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน