ข่าวการก่อกบฏและการปราบปรามในปี 2476 "กบฏบวรเดช " - kachon.com

การก่อกบฏและการปราบปรามในปี 2476 "กบฏบวรเดช "
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s
 

การก่อกบฏและการปราบปรามในปี 2476  "กบฏบวรเดช "

เหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476 เกิดจากการมิได้รับการยอมรับการปฏิวัติ 2475 จากกลุ่มผู้จงรักภักดีที่ประกอบด้วยเจ้านาย ขุนนาง และเหล่าผู้จงรักภักดี เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่เชื่อว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมชาติ และสังคมไทยมีจารีตการปกครองโดยชนชั้นสูงมาตลอดประวัติศาสตร์

ดังนั้น ไม่สมควรเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับตาลปัตร พวกเขากระทำการปฏิปักษ์การปฏิวัติ (counter revolution)7 ด้วยใช้กำลังทางการทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จากหัวเมืองที่นำโดย นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เข้ามาสู่พระนครเพื่อยื่นคำขาด เพื่อหมุนระบอบกลับสู่ที่เดิม คือระบอบราชาธิปไตย เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2476 ดังที่นายทหารคนหนึ่งของฝ่ายกบฏบวรเดชบันทึกว่า “ทหารหัวเมืองรวมตัวกันเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบการปกครองให้เป็นไปตามเดิมโดยมี พลเอกฯ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า8 และข้อความนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงระบอบการปกครองที่อยู่ในพระประสงค์และความต้องการที่แท้จริงของเหล่าฝ่ายกบฏในครั้งนั้นเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดช ที่ผ่านมามักให้ความสำคัญกับเหตุการณ์มากกว่า บทบาทสามัญชน คนธรรมดา จนทำให้การรับรู้ถึงบทบาทของสามัญชนที่มีความกระตือรือร้นในการพิทักษ์ระบอบการปกครองของพวกเขาจากภยันตรายที่คุกคามถูกละเลยไป9

นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

ดังนั้น หากความมั่นคงและยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทยตั้งอยู่บนความรู้ความเข้าใจ ความภูมิใจและการตระหนักในความสำคัญของคนทุกคนในฐานะผู้ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย ที่มีสิทธิและหน้าที่แล้วไซร้ หน้าที่ประการหนึ่งที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยซึ่งทุกคนพึงมีคือ การพิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในหนทางในการธำรงความมั่นคงให้กับระบอบการปกครองดังกล่าว คือ การส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในที่มาแห่งตน อันจะก่อให้เกิดความภูมิใจว่า ความเป็นพลเมืองหาได้เกิดขึ้นจากการหยิบยื่นให้ แต่เกิดขึ้นจากความตระหนักและร่วมกันพิทักษ์ปกป้องสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยให้มีเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมืองด้วย

ดังที่ ธรรมจริยาประชาคม (2481) ได้เรียกร้องให้พลเมืองทุกคนช่วยกันปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากภัยคุกคามว่า “ประชาธิปไตยจะถาวรได้ ก็ต้องอาศัยปวงชนพลเมืองช่วยกันป้องกันและส่งเสริมเรามีหน้าที่ทางศีลธรรมและชุมชนที่จะต้องคอยป้องกันประชาธิปไตย แม้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ และไม่เพียงแต่ป้องกัน ยังต้องคอยส่งเสริมให้วัฒนาถาวร เพราะว่าการแตกดับของประชาธิปไตย ย่อมหมายถึงการแตกดับแห่งสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม ในปัจจุบันนี้ เราจะไปหารูปการปกครองอันใดที่นำพาในประโยชน์สุขของพลเมืองยิ่งไปกว่าประชาธิปไตยเป็นอันหาไม่ได้แล้ว10

พลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏบวรเดช 2476

ทันทีที่ชาวพระนครทราบการยกทัพมาประชิดพระนครของกองทัพกบฏ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ได้ปรากฏพลเมืองของระบอบใหม่มาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก พวกเขามีความประสงค์เข้าร่วมพิทักษ์ระบอบใหม่ ด้วยการเป็น “ทหารอาสาสมัครปราบกบฏ” ทำหน้าที่ รบพุ่งปราบปรามจลาจลเพื่อรักษารัฐธรรมนูญและความสงบแห่งชาติ15 นอกจากนี้ ในช่วงเวลาคับขันนั้น ทหารกองหนุนจำนวนมากได้เข้ามารายงานตัวกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลยังไม่มีหมายเรียกระดมพลทหารกองหนุนแต่ประการใด16

ไม่แต่เพียงพลเมืองที่มีความรู้ทางกฎหมาย เช่น คณะนักเรียนกฎหมาย ได้เข้าช่วยเหลืองานตำรวจหลายด้าน เช่น การสืบสวนตัวพวกกบฏและผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏแต่ยังรวมถึงกรรมกรหลากหลายกลุ่ม ได้แก่กรรมกรในโรงช่างแสง กรรมกรโรงงานอากาศยาน กรรมกรโรงงานมักกะสัน กรรมกรเรือจ้าง กรรมกรของบริษัทปูนซิเมนต์สยาม กรรมกรรถยนต์รับจ้าง ล้วนแสดงความจำนงเข้าร่วมงานกับฝ่ายรัฐบาล17 รวมทั้งเหล่าลูกเสือ ซึ่งเป็นเพียงนักเรียนได้อาสาสมัครฯ เข้าช่วยเหลือรัฐบาลในการต่อต้านฝ่ายกบฏเช่นกัน

สำหรับบทบาทของสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามในช่วงแห่งการเกิดกบฏนั้น พวกเขาแสดงความต้องการอาสาสมัครไปประจำแนวหน้าเพื่อการเข้าประจัญบานกับฝ่ายกบฏถึง 2 ครั้ง แต่รัฐบาลได้กล่าวตอบขอบใจในความกล้าหาญของกรรมกร และแจ้งว่าขณะนั้นรัฐบาลยังคงมีกำลังทหารเพียงพอในการรับมือกับกบฏได้ ต่อมา สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม อันมี นายถวัติ ฤทธิเดช เป็นนายกสมาคมฯ ได้มอบหมายแบ่งภารกิจให้เหล่ากรรมกรอาสาสมัครปราบกบฏทำหน้าที่หาข่าวและดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนครแทนการไปรบที่แนวหน้า18 บทบาทกรรมกรอาสาสมัครปราบกบฏนั้น นายปรีดี พนมยงค์ พยานร่วมได้เล่าถึงวีรกรรมในครั้งนั้นว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดีหรือกรณีกบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี…”19

กระนั้นก็ดี การที่รัฐบาลคณะราษฎรเปิดโอกาสให้กรรมกรเป็นอาสาสมัครปราบกบฏ อีกทั้งบทบาทของนายถวัติ ฤทธิเดช ที่ได้เคยยื่นฟ้องหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ20 ทำให้พระปกเกล้าฯ มีพระราชกระแสผ่านหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ถึงรัฐบาล ความว่า พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้กลุ่มกรรมกรทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสืบหาข่าวความเคลื่อนไหวของพวกกบฏในกรุงเทพฯ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่ากรรมกรมีฐานะไม่เหมือนกับลูกเสือ และกรรมกรอาจไม่สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่ได้ พระองค์ทรงเกรงว่าพวกกรรมกรจะกล่าวหาความผิดให้พวกเจ้านายได้21

นอกจากความตื่นตัวของพลเมืองในพระนครภายหลังทราบข่าวการก่อกบฏต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแล้ว ชาวสมุทรสาครมีความตื่นตัวมากด้วยเช่นกันโดยชาวสมุทรสาครได้ชุมนุมพลเมืองอาสาสมัครฯ ขึ้น ดังความต้องการของเขาที่ถูกรายงานกลับมายังรัฐบาลว่า “ชายฉกรรจ์พวกนี้เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐบาลและรักรัฐธรรมนูญ22 พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งอาวุธมาให้อาสาสมัครฯ เพื่อใช้ต่อสู้กับพวกกบฏ หรือแม้แต่ พลเมืองบางคนได้ขอลางานเพื่อเข้าร่วมการปราบกบฏ ดังจดหมายของ นายพร้อม ทัพประพนท์ เสมียนอำเภอพานทอง ชลบุรี ได้แจ้งว่า เขาได้ขอลาหยุดงาน 7 วัน เพื่อเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ23 หรือกรณีการอาสาของนายเทียบ เวชปาณ ชาวชุมพร ผู้ขอสมัครเป็น “ทหารอาสาปราบกบฏ24 เป็นต้น

สำหรับบทบาทของลูกเสืออาสาสมัครฯ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่ลำเลียงเครื่องมือ เครื่องใช้ กระสุนปืน จัดทำและจัดวางอาหาร เป็นเวรยามตามสถานที่สำคัญทางราชการทั้งในเวลากลางวันกลางคืน รวมถึงการเดินหนังสือราชการให้รัฐบาลด้วยรถจักรยานในแนวหน้าของการสู้รบ เป็นเวรยามประจำช่องทางสำคัญ และแจกจ่ายแถลงการณ์ของรัฐบาลท่ามกลางสงครามกลางเมือง25 ด้วยความกล้าหาญและความเสียสละของพวกเขาที่ได้ช่วยเหลือกิจการปราบกบฏของรัฐบาลเป็นอันมาก

ประชาชนจำนวนมากพากันมาต้อนรับทหารที่ไปปราบกบฏกลับถึงกรุงเทพฯ ที่หน้าสถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2476 (ภาพจากสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ : บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พ.ศ. 2558)

จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม รัฐบาลได้ประกาศชมเชยน้ำใจลูกเสืออาสาสมัครฯ ความว่า ลูกเสืออาสาสมัครฯ “ช่วยลำเลียงสรรพาวุธ ช่วยลำเลียงอาหาร ช่วยในการสื่อสาร และกิจการเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นอกจากนี้ยังหาญเข้ากระทำการต่างๆ เหล่านี้ในแนวน่าในระยะกระสุนของกองทหารฝ่ายกบฏ โดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายและความเหน็ดเหนื่อย ทั้งๆ ที่ลูกเสือเหล่านี้เป็นเพียงยุวชนอายุน้อยๆ…”26 ทั้งนี้ ลูกเสืออาสาสมัครฯ เหล่านี้ ปฏิบัติงานอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และพระนคร เป็นต้น

การปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งของเหล่าพลเมืองอาสาสมัครฯ ของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสาฯ กรรมกร และประชาชนทั่วไปในการช่วยงานการปราบกบฏครั้งนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศชมเชยพลเมืองผู้แข็งขันในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ดังนี้ “รัฐบาลจึ่งขอประกาศชมเชย เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ประชาชนทั้งหลาย ในความจงรักภักดีของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสา กรรมกร และราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศสยาม และต่อชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของชาวเรา27

ไม่แต่เพียงเหตุการณ์กบฏบวรเดชจะก่อให้เกิดทหารอาสาสมัครฯ ที่จะทำหน้าที่สู้รบเท่านั้น แต่ยังปรากฏอาสาสมัครฯ ทำหน้าที่รายงานข่าวให้รัฐบาลทราบด้วย เช่น ผู้แทนตำบลหินมูล จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รายงานต่อรัฐบาลว่า มีพระภิกษุที่หนีภัยสงครามจากอยุธยาได้แจ้งสถานการณ์ที่อยุธยาว่า ฝ่ายกบฏประกาศให้ชาวอยุธยาจับตัวนายกรัฐมนตรี และกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นกบฏ ขณะนั้นชาวอยุธยาสนับสนุนฝ่ายกบฏมาก28 หรือบทบาทของนายแพทย์หวล ชื่นจิตร์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พลเมืองอาสามัครฯ ได้รายงานสถานการณ์ในแถบจังหวัดสมุทรสาครในช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคม ว่า ประชาชนและข้าราชการในจังหวัด เชื่อว่าเหตุการณ์นี้คือ

ความขัดแย้งกันระหว่าง ‘คณะราษฎร’ กับ ‘คณะจ้าว’ และ ‘คณะจ้าว’ ทำเพื่อพระปกเกล้าฯ พวกเขาเห็นว่า พระปกเกล้าฯ รู้เห็นเป็นใจกับการกบฏด้วย” นอกจากนี้ข้าราชการที่จังหวัดสมุทรสาครวิเคราะห์ว่า พระยาสุรพันธเสนีเป็นคนโปรดของในหลวง มักติดสรอยห้อยตามในหลวงอยู่เสมอๆ ถ้าหากในหลวงไม่ทรงฝักไฝ่อยู่ด้วย เหตุไฉน พระยาสุรพันธเสนีจึงจะไปกล้าเข้ากับพวกกบฏเล่า29

พลเมืองอาสาสมัครฯ ในอีสาน

ควรบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ถึงบทบาทของพลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดขอนแก่นนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2476 เมื่อพลเมืองชาวขอนแก่นได้รับข่าวเรื่องฝ่ายกบฏยกกองทัพออกจากนครราชสีมาไปพระนครจากชาวบ้านที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดนครราชสีมาด้วยรถไฟ แต่ขณะนั้นข่าวสารยังไม่ชัดเจน30

ต่อมาโทรเลขระหว่างพระนครขอนแก่น ถูกฝ่ายกบฏตัดขาดลง ข้าราชการและพลเมืองชาวขอนแก่นจึงไปรับฟังข่าววิทยุที่สโมสรข้าราชการจังหวัดขอนแก่น พระณรงค์ฤทธี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้เรียกประชุมข้าราชการชั้นหัวหน้า ข้าราชการต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจังหวัดขอนแก่นจำเป็นต้องป้องกันตนเองมิให้ฝ่ายกบฏเข้ามายึดเป็นพื้นที่ต่อต้านรัฐบาลได้ แต่เมื่อวิเคราะห์กำลังในการป้องกันตนเองของจังหวัดแล้วปรากฏว่ามีจำนวนน้อย อีกทั้งกรมทหารที่ใกล้จังหวัดขอนแก่นมากที่สุด คือ ทหารจังหวัดอุดรธานีอยู่ไกลออกไปจากตัวจังหวัดมาก

ดังนั้น พระณรงค์ฤทธี ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมอบหมายในทางลับให้ นายอุดม บุญประกอบ อัยการจังหวัด ซึ่งเป็นคนมีพรรคพวกมาก เป็นหัวหน้าจัดตั้ง “หน่วยอาสาสมัครต่อต้านกบฏจังหวัดขอนแก่น” ขึ้นอย่างเงียบๆ จากนั้น มีการเรียกระดมอาสาสมัครฯ ปรากฏว่าพลเมืองชาวขอนแก่นทั้งข้าราชการเจ้าหน้าที่รถไฟและประชาชน โดยนายอุดมสั่งให้อาสาสมัครฯ จัดเตรียมอาวุธปืนให้พร้อมในการต่อสู้และให้อาสาสมัครฯ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างทางรถไฟนำดินปืนที่ใช้ระเบิดหินสร้างทางรถไฟมาเก็บไว้ในทางลับ นอกจากนี้ พระณรงค์ฤทธีได้รวบรวมกระสุนปืนจากร้านค้าในตลาดมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อแจกจ่ายให้อาสาสมัครฯ เพื่อเตรียมการต่อต้านฝ่ายกบฏ31

ต่อมา วันที่ 17 ตุลาคม หน่วยข่าวของจังหวัดขอนแก่นได้รับทราบข่าวจากแถลงการณ์รัฐบาลว่าฝ่ายกบฏแตกพ่าย และถอยหนีไปทางจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น นายอุดมและพระณรงค์ฤทธี ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้วางแผนป้องกันมิให้ฝ่ายกบฏมายึดตัวจังหวัดได้ ดังแผนเป็นขั้นต่อไปนี้ ขั้นแรกทำลายทางรถไฟเพื่อขัดขวางการลำเลียงทหารมาสู่ตัวจังหวัด โดยแยกการดำเนินการต่อต้านออกเป็นสายๆ โดยพระณรงค์ฯ มีหน้าที่บังคับบัญชาตำรวจ ส่วนนายอุดมมีหน้าที่สั่งการหน่วยอาสามัครฯ ให้เตรียมพร้อมรับมือการมาถึงทหารฝ่ายกบฏ ในคืนวันนั้นเอง นายอุดมกับอาสาสมัครฯ และเจ้าหน้าที่รถไฟได้ลงมือปฏิบัติการลับทำลายรางรถไฟและสะพานเชื่อมระหว่างสถานีเมืองพลกับสถานีบ้านหัน ซึ่งห่างออกจากตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร เพื่อสร้างอุปสรรคในการเข้ายึดตัวจังหวัดของทหารฝ่ายกบฏ

ผลของการระเบิดทางรถไฟและสะพานในครั้งนั้นของอาสาสมัครฯ ได้ปรากฏในบันทึกจากความทรงจำของ นายร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ นายทหารฝ่ายกบฏบวรเดชว่า วันที่ 19 ตุลาคม ระหว่างการถอนกำลังออกจากนครราชสีมาไปยังขอนแก่น พบว่าทางรถไฟที่สถานีเมืองพลถูกระเบิดเสียหาย ดังนั้น เขาได้รับมอบหมายให้นำกองร้อยทหารม้า จังหวัดสระบุรี ไปตรวจทางรถไฟ และได้สอบถามนายสถานีเมืองพลถึงสาเหตุทางรถไฟขาด แต่นายสถานีไม่ตอบ เขาจึงควักปืนพกมาวางบนโต๊ะ แล้วพูดว่า

ถ้าไม่ตอบความจริงก็จะต้องขัดใจกัน นายสถานีเห็นว่าข้าพเจ้าจะเอาจริง ตกใจกลัวตัวสั่นตอบว่า มีนายทหารหลายคนกับเจ้าหน้าที่รถไฟอีก 2 คน มาทำการระเบิด32

ร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)

จากความทรงจำของอาสาสมัครฯ คนหนึ่งที่เข้าร่วมการต่อต้านกบฏบวรเดช บันทึกว่า ในวันที่ 19 ตุลาคม เมื่อหน่วยข่าวของจังหวัดทราบข่าวมาว่ามีขบวนรถไฟบรรทุกทหารฝ่ายกบฏเต็มขบวนแล่นออกจากจังหวัดนครราชสีมามุ่งหน้ามายังจังหวัดขอนแก่น แต่ขบวนรถไฟมาถึงช่วงรางรถไฟและสะพานถูกทำลายขบวนทหารกบฏได้หยุดชะงัก ไม่สามารถแล่นมายังจังหวัดขอนแก่นได้

และในบ่ายวันนั้นเอง พระณรงค์ฤทธี ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้รับรายงานด่วนจากกรมการอำเภอพลว่า มีนายทหารยศร้อยเอกฝ่ายกบฏคุมทหารหนึ่งกองร้อย พร้อมด้วยอาวุธปืนกลและปืนเล็กยาวไปที่อำเภอพล สืบหาผู้ที่ทำลายรางรถไฟและสะพาน และเมื่อขบวนทหารฝ่ายกบฏเคลื่อนเข้ายึดจังหวัดขอนแก่นไม่ได้ ทหารฝ่ายกบฏจึงได้ถอนตัวกลับไปยังนครราชสีมา เนื่องจากทหารกบฏเห็นสัญญาณ การทำลายรางรถไฟและสะพานบนเส้นทางเข้าสู่จังหวัดอันหมายถึง การไม่ยอมจำนนและการเตรียมการตั้งรับของชาวขอนแก่น ฝ่ายกบฏจึงทำได้เพียงแค่ทิ้งทหารไว้จำนวน 5-6 คนยึดสถานีเมืองพลไว้33

ในตอนค่ำของวันที่ 19 ตุลาคมนั้นเอง หน่วยอาสาสมัครฯ และตำรวจจังหวัดขอนแก่นได้รับกำลังสมทบจากทหารราบ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 นาย ต่อมาทหารจังหวัดอุดรธานีและอาสาสมัครฯ จำนวนหนึ่งได้สนธิกำลังเคลื่อนไปรักษาการณ์ที่สถานีบ้านไผ่ วันที่ 20 ตุลาคม ทหารจังหวัดอุดรธานี อีกจำนวน 70 คน เดินทางมาถึงจังหวัดขอนแก่น และเคลื่อนกำลังไปรักษาการณ์ที่สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำชีที่ห่างตัวจังหวัดออกไปอีก 6 กิโลเมตรเพื่อสร้างแนวตั้งรับฝ่ายกบฏ34

และวันที่ 21 ตุลาคมนั้นเอง ตำรวจและกรมการอำเภอพล พร้อมกับอาสาสมัครฯ ได้ร่วมกันขับไล่ทหารฝ่ายกบฏที่ยึดสถานีรถไฟเมืองพลออกไป โดยมิได้มีการยิงต่อสู้ เนื่องจากทหารฝ่ายกบฏยอมจำนนและวางอาวุธ อาสาสมัครฯ จึงได้เข้าควบคุมตัวทหารกบฏนำส่งสถานีตำรวจจังหวัดขอนแก่น35

บนท้องฟ้าของจังหวัดขอนแก่น ของบ่ายวันที่ 22 ตุลาคม 2476 ปรากฏเครื่องบินเบรเก้ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 2 ลำนำจดหมายจาก นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มาถึงพระณรงค์ฤทธี และรัฐบาลมอบเครื่องบินทั้ง 2 ลำให้แก่จังหวัดขอนแก่นเพื่อใช้ในการติดต่อกับรัฐบาล พระณรงค์ฤทธีจึงมอบหมายให้นายอุดมเป็นตัวแทนจังหวัดเดินทางไปรายงานสถานการณ์ให้นายกรัฐมนตรีที่พระนครทราบ โดยทางบินในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่าน้ำมันในเครื่องบินมีไม่เพียงพอในการเดินทาง จึงถ่ายน้ำมันจากเครื่องบินอีกลำมาแทนเพื่อนำนายอุดมไปยังพระนครให้ทันเวลา

นายสุทิน เกษคุปต์ อาสาสมัครฯ คนหนึ่งได้บันทึกว่า ขณะนั้นไม่มีผู้ใดแน่ใจว่าน้ำมันเครื่องบินจะเพียงพอกับการเดินทางไปถึงพระนครหรือไม่ ในเช้าวันนั้น พลเมืองจังหวัดขอนแก่นมาชุมนุมเพื่อส่งนายอุดมจำนวนมาก และก่อนเดินทางนายอุดมได้ปรารภกับเขาว่า “ไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมาพบหน้าลูกเมียและเพื่อนๆ หรือไม่” แต่ในที่สุด เครื่องบินนำนายอุดม ตัวแทนจังหวัดขอนแก่นมาถึงพระนครทันเวลา ด้วยการลงจอดที่สนามหลวง และนายอุดมได้กลับมาถึงขอนแก่นในวันที่ 24 ตุลาคมนั้นเอง36

เพื่อนผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกว่า “ขณะที่เกิดกบฏบวรเดช และนายอุดมฯ เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้ง ‘หน่วยอาสาสมัครฯ’ ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย อีกทั้งต้องเดินทางไปรายงานด่วนที่กรุงเทพฯ อีก โดยขณะนั้น ภรรยาของนายอุดมเพิ่งคลอดบุตรได้ไม่กี่วัน แต่นายอุดมได้ปกปิดภารกิจทั้งหมด เมื่อเหตุการณ์กลับสู่ปกติแล้ว นายอุดมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เขาเป็นผู้ว่าคนแรกที่อายุน้อยที่สุดเพียง 28 และไม่มีบรรดาศักดิ์37

เหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้ไม่แต่เพียงสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับพลเมืองเท่านั้น แต่ยังพบว่า มีผลต่อพระภิกษุด้วยเช่นกัน ดังกรณี พระมหาภู่ นาคสลับ วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีลิขิตถึงนายกรัฐมนตรี ความว่า ตัวของท่านให้การสนับสนุนรัฐบาล ด้วยเหตุผลว่า แม้ว่าการเกี่ยวข้องกับการปราบกบฏครั้งนี้จะไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่พระมหาภู่เห็นว่า ความใส่ใจความเป็นไปของชาติเป็นเรื่องของทุกคน เพราะภิกษุย่อมเป็นส่วนหนึ่งของชาติและเป็นเพื่อนร่วมชาติกับทุกคน พร้อมรายงานสถานการณ์ทางภาคใต้ให้รัฐบาลทราบว่า ประชาชนใต้ส่วนใหญ่สนับสนุนพวกกบฏ เชื่อข่าวจากพวกกบฏมากกว่ารัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งแก้ไขการนำเสนอข่าวสาร และอำนวยพรมายังรัฐบาลว่า “อาตมาภาพนอกจากเอาใจช่วยรัฐบาลแล้ว ยังขออัญเชิญพระรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยอภิบาลปกป้องในกาลทุกเมื่อด้วย38

พลเมืองช่วยกิจการปราบกบฏ

นอกจากให้การสนับสนุนการปกป้องระบอบประชาธิปไตยของพลเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครปราบกบฏแล้ว กิจกรรมการสนับสนุนรัฐบาลด้วยสิ่งของเครื่องใช้และเงินทุนเป็นกิจกรรมอีกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอย่างมาก ทั้งนี้สิ่งของที่ประชาชนร่วมบริจาคมีตั้งแต่เงิน อาหาร ผลไม้ ข้าวห่อ บุหรี่ นมข้นหวาน ขนมปังปอนด์ เครื่องกระป๋อง ปลากระป๋อง ปลาเค็ม กล้วยหอม อ้อยควั่น สลิ่ม ข้าวต้มมัด น้ำส้มคั้นใส่น้ำแข็ง กาแฟ ซาลาเปา ยาน้ำมันกระดูกเสือ ยาหอม ไพ่ป๊อก ยานัตถุ์ หนังสือรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งบริจาคกระดาษเพื่อห่อข้าวลำเลียงอาหาร ขึ้นไปแนวหน้าของสมรภูมิ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ขอบันทึกบทบาทของพลเมืองต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ในการบริจาคสิ่งของต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน สำหรับในพระนคร มีบุคคลและคณะบุคคล ดังต่อไปนี้

นายสะอาด กิจนิยม นายทองคำ ช้างบุญชู นางริ้ว แซ่ล้อ อำเภอพระนคร นางสัมฤทธิ์ เวชศาสตร์ อำเภอปทุมวัน นางถนอม นิติเวชช์บางลำพู หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ประชาชนตำบลบางขวาง บ้านทวาย พระนคร ตันอี้หลง เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ หลวงทิพวาที คุณหญิงสัตยพรตสุนันท์ นางลิ้นจี่ ชยากร นางสาวลออ ไชยสุต นายสงวน พะยุงพงศ์ ร้านยุพดีสถานบางรัก

คณะข้าราชการ นักเรียน และนางพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูและนักเรียนโรงเรียนลีนะสมิต ตำบลวัดช่างแสง พระนคร ผู้แทนตำบลบางพลัด ชาวบ้านอำเภอบางขุนเทียน โรงพิมพ์ศรีกรุง คณะหนังสือพิมพ์หลักเมือง หนังสือพิมพ์อิสระของ นาย บุญเทียม รถยนต์ยี่ห้อง่วนจั๊วโรงฆ่าสัตว์ คณะเสมียนบริษัทบอร์เนียว สมาคมกรรมกรเดินรถแห่งสยาม สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม แม้กระทั่งนักโทษในแดน 2 เป็นต้น

นางและนางสาวชาวแก่งคอยที่สมัครไปช่วยในการปราบกบฏอยู่ในกองเสบียงส่วนที่ 2 (ภาพและใต้ภาพจากสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ : บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พ.ศ. 2558)

สำหรับในต่างจังหวัด มีบุคคลและคณะบุคคลดังต่อไปนี้ นายตวน เป้าเพ็ชร และประชาชนตำบลบางเคียน จำนวน 30 คน จากอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนตำบลและประชาชน ตำบลบางเมือง จังหวัดสมุทรปราการ นายเลี้ยง ทองไฮ้ ชาวบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ประชาชนจากตำบลธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายเปี่ยม ชวนะเวช คณะกุลสตรีราชบุรีล่าง จังหวัดราชบุรี เด็กหญิงเจริญ จิตต์สุมัศ ครูและนักเรียน ตำบลตะนาวศรี จังหวัดนนทบุรี คณะกาชาดจังหวัดตรัง พระประจำคดี อัยการจังหวัดนครราชสีมา ขุนประกอบการบุรี นายอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขุนวรรณวุฒิจารย์ รักษาการนายอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา กำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร สมาคมมหาสารคาม สโมสรคณะราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี39

ขุนชนินทร์นรบาล กำนันตำบลช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ นายมณฑล ขันธะปราบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 กับประชาชน 6 คน นายสุโข นางหลาน นายทุน นายเส่ง โพธิรัตน์ นายยิ่ง นางแหว้น นางบุญทา สุธรรมา นายปั้นและนางดา ได้จัดเลี้ยงน้ำหวานแก่ลูกเสือ ทหารบกและตำรวจที่รักษาการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถนนช้างม่อย ผู้แทนตำบลบ้านเมืองงาย อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่ สมาคมคณะราษฎรเชียงใหม่ สโมสรพานิชจีนเชียงใหม่40 เป็นต้น

ทั้งนี้ มีการบริจาคทรัพย์ให้รัฐบาลกรณีหนึ่งที่สมควรบันทึกไว้ คือ กรณี นางปุ่น สุภาพันธ์ โรงพยาบาลอเมริกัน จังหวัดเพชรบุรี เขียนจดหมายถึง นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2476 ขอบริจาคแหวนทองแต่งงานให้รัฐบาลนำไปขายเพื่อสมทบทุนการปราบกบฏว่า

ดิฉัน เป็นราษฎรสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งไม่มั่งมีศรีสุขอย่างใด แต่ทั้งกายและใจของดิฉันเคารพมั่นคงในรัฐธรรมนูญซึ่งใต้เท้าได้เป็นประมุขนำมาหยิบยื่นให้ด้วยพลีชีวิต ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อประเทศต้องการเพื่อรักษารัฐธรรมนูญของชาติให้สถิตสถาพรอยู่ ดังนั้น ดิฉันได้ส่งแหวนมาพร้อมจดหมายนี้ 1 วง แม้จะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ ไม่มีราคาเท่าใดนัก แต่เป็นของมีค่าที่สุดของดิฉันสิ่งหนึ่ง เพราะเป็นแหวนวิวาห์ของดิฉัน…”41

นอกจากนี้ รัฐบาลได้รับความช่วยเหลือจากโรงพิมพ์ศรีกรุง ไทยใหม่ ประชาชาติ หลักเมือง จัดพิมพ์ใบปลิว แถลงการณ์ ประกาศของรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย42

สุดท้ายแล้ว ในสายตาของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นประจำสยามในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้บันทึกว่า ความเชื่อทั่วไปของคนไทยที่ว่า คนไทยมีนิสัยไม่ชอบเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นนิสัยประจำชาตินั้น แต่เขากลับเห็นว่า “เมื่อเกิดการปฏิวัติเมื่อปีที่แล้ว (2475) จิตใจของประชาได้เปลี่ยนไปมากแล้ว43

เสมียนรถไฟกับการต่อต้านการก่อกบฏ

ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ในช่วงที่รัฐบาลคณะราษฎรยังคงมืดแปดด้านกับการประเมินกำลังของฝ่ายกบฏบวรเดชว่า ได้รับการสนับสนุนจากทหารหน่วยใดหรือจังหวัดใดบ้าง คืนวันที่ 15 ตุลาคม 2476 เวลา 18.00 นายแสวง เย็นสมุทร เสมียนรถไฟ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้พบเห็นการเคลื่อนไหวของทหารในจังหวัดเพชรบุรี และเมื่อกองพันทหารราบ เพชรบุรีแสดงตนเป็นกบฏต่อรัฐบาล นายแสวงได้พยายามส่งโทรเลขถึง นายพันเอก พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถทำได้

เขาจึงได้ปรึกษากับข้าราชการรถไฟสถานีเพชรบุรี ยกเว้น นายสถานี เนื่องจาก เขาทราบว่า ขุนสรการกำจร นายสถานีที่เขาทำงานอยู่นั้นเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ จากนั้น ข้าราชการชั้นผู้น้อยของกรมรถไฟเหล่านั้นได้แบ่งหน้าที่กันที่ขัดขวางพวกกบฏ ดังนี้ เจ้าหน้าที่รถไฟแผนกรถจักรได้เทน้ำมันออกจากหัวรถจักรบางคันเพื่อขัดขวางไม่ให้รถจักรเดินได้ ส่วนพนักงานเดินรถบางคนได้ลักลอบแจ้งข่าวสารให้นายสถานีต่างๆ ที่อยู่ใต้สถานีเพชรบุรีลงไปทราบว่า ทหารเพชรบุรีเป็นกบฏ และขอให้สถานีต่างๆไม่ให้ความร่วมมือกับพวกกบฏ

จากหลักฐานที่เหลือรอดมา ได้พบรายชื่อข้าราชการชั้นผู้น้อย กรมรถไฟที่ได้เข้าร่วมการต่อต้านกบฏบวรเดช จึงขอบันทึกรายชื่อดังกล่าวเป็นเกียรติประวัติต่อไปนี้ นายแสวง เย็นสมุทรเสมียนสถานีโทรเลขเพชรบุรี นายเฮง ปัญจมวัตรพนักงานห้ามล้อ นายจีบ มีนะพันธ์พนักงานห้ามล้อขบวนรถชุมพรเพชรบุรี นายอุ่นพนักงานรักษารถชุมพร นายตรี มีจีนพนักงานห้ามล้อขบวนชุมพรเพชรบุรี นายทองหยิบ พุทธดิสระช่างไฟ ขบวนเพชรชุมพร นายมณี เข็มทอง นายสถานีวังพงก์ ทั้งหมดได้ร่วมกันต่อต้านการก่อกบฏของกองพันทหารราบ จังหวัดเพชรบุรีและการเข้าร่วมก่อกบฏของนายสถานีเพชรบุรี ด้วยการ “ร่วมกันฝ่าอันตราย เช่น เก็บเอกสารฝ่ายกบฏ ลอบส่งข่าวกำลังกบฏ ห้ามชุมพรส่งเงินตามคำสั่งของนายสถานีเพชรบุรีโดยแจ้งให้ทราบความจริงว่า เป็นกบฏ44

ลูกเสืออยุธยากับนักเรียนหญิงโรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี ห่ออาหารและการครัวในกองเสบียงส่วนที่ 2 (ภาพและใต้ภาพจากสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ : บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พ.ศ. 2558)

การคุกคามพลเมืองของอภิชน

ด้วยชัยชนะของรัฐบาล หลังเหตุการณ์จบสิ้นลง รัฐบาลได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ 2476 เพื่อการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏจำนวนมากอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถจับกุมแกนนำคนสำคัญๆ ได้ เนื่องจากผู้นำระดับสูงหลบหนีไปต่างประเทศ ในขณะที่นายทหารระดับนำบางคนเสียชีวิตในที่รบ นายทหารฝ่ายกบฏจำนวนมากที่ถูกจับได้ถูกถอดยศ ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ถูกรัฐบาลจับกุมกว่า 600 คน ถูกฟ้องศาล 81 คดี จำเลย 318 คน ถูกตัดสินลงโทษ 230 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน45

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายกับผู้ต้องหาคดีกบฏดังกล่าวนั้น คนเหล่านี้เป็นอภิชนคนชั้นสูงผู้มีอำนาจและเครือข่ายกว้างขวาง ทำให้พยานบุคคลฝ่ายรัฐบาลหลายคนถูกคุกคามจากญาติพี่น้องของผู้ต้องหา เช่น กรณี นายบุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิ ได้ร้องเรียนมายังนายกรัฐมนตรีว่า หลังเหตุการณ์ เขากำลังถูกปองร้ายจากญาติของพวกกบฏในจังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากเขาเป็นพยานให้ฝ่ายรัฐบาล46

รวมทั้งกรณี นายบัว ศิริอักษร ประชาชนขอนแก่น ร้องขอความคุ้มครองจากรัฐบาล เนื่องจากเขาถูกปองร้ายจากการที่เขาได้เป็นพยานในคดีของพระยาอุดมสารเขตเป็นกบฏ โดยเขาถูกหมายเอาชีวิตจากญาติพี่น้องของผู้ต้องหา ประสงค์สังหารเขาด้วยการใช้เหล็กแหลมมีคมแทงทะลุไม้กระดานพื้นเรือนห้องนอนขึ้นมา แต่ถูกภริยาบาดเจ็บ ต่อมารัฐบาลได้สั่งการให้ส่งตำรวจขอนแก่นไปคุ้มครองความปลอดภัยให้พยาน47 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปราบปรามกบฏบวรเดชสำเร็จแล้ว รัฐบาลได้นำผู้ต้องหากบฏทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยรัฐบาลได้วางหลักการไต่สวนกบฏว่า “ถ้าการไต่สวนมีความสงสัยว่าจะเป็นตัวการ หรือผู้สมรู้ร่วมคิดของพวกกบฏ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ให้ไต่สวนต่อไป ถ้าไต่สวนต่อไปแล้วยังไม่มีหลักฐานดีขึ้น อย่าจับกุมคุมขังแก่บุคคลเหล่านั้นเลย48 ต่อมา นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งถึง กรมโฆษณาการให้ทำหน้าที่ตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ให้เข้มงวด เนื่องจากหนังสือพิมพ์ขณะนั้นใช้ถ้อยคำที่รุนแรงในการโจมตีพวกกบฏ โดยรัฐบาลได้วางหลักการให้หนังสือพิมพ์ปฏิบัติตาม ดังนี้

ประการแรก ไม่ปรักปรำ หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย อันก่อให้เกิดความเจ็บแค้นในเครือญาติ มิตรสหายของพวกกบฏ เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความ “เจ็บแค้น” ต่อกัน

ประการที่สอง ไม่ควรมีข้อความที่แสดงว่ารัฐบาล “อวดดีอวดเก่ง” แต่รัฐบาลกระทำไปด้วยความชอบธรรม มิได้เกินสมควร

ประการที่สาม หากมีการตำหนิโทษพวกกบฏต้องให้เป็นการตำหนิเป็นรายบุคคล อย่าให้กระทบถึงญาติมิตรและกระทบพระราชวงศ์ และ

ประการที่สี่ ต้องสำนึกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สักการะ มิให้มีข้อความกระทบกระทั่ง49

นอกจากนี้ รัฐบาลยังดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชนในแถบหลักสี่และบางเขน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยทำการสำรวจความเสียหายของประชาชนและมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเร่งปฏิสังขรณ์วัดเทวสุนทร50 อันมีรายละเอียดต่อไปนี้

รัฐบาลได้จ่ายค่าเสียหายให้กับกรณีสัตว์ล้มตาย บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายให้กับประชาชน จำนวน 48 ราย และมีผู้ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตในแถบพื้นที่หลักสี่และบางเขน 2 ราย คือ พระภิกษุสอน วัดเทวสุนทร นายเพ็ง ทองหล่อ ส่วน นางแป้น แตงเอี่ยม ประสบความทุพพลภาพ51

อีกทั้งรัฐบาลได้ชดเชยและเยียวยาประชาชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์แล้ว ยังได้สงเคราะห์ครอบครัวทหารฝ่ายกบฏที่เสียชีวิต จำนวน 4 ราย และค่าเลี้ยงดูบุตร คือ นายสิบโท ทา รถไธสง นายสิบโท น้อย สง่าเมือง นายสิบตรี น้อย นอสูงเนิน และ พลทหาร สุข สว่างโนนลาว ด้วย52


เชิงอรรถ

ณัฐพล ใจจริงขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ. (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2556).

ประวัติ,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยโท เอกนรินทร์ ภักดีกุล  เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 30 ธันวาคม 2533. (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2533), ไม่ปรากฏเลขหน้า.

นิคม จารุมณีกบฏบวรเดช .. 2476”วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.

10 จินดา พันธุมจินดาธรรมจริยาประชาคม. (พระนคร : ..., 2481), . 333-334.

15 แถลงการณ์ ฉบับที่ 6 วันที่ 12 ตุลาคม 2476,” ใน รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามได้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนและราษฎรทั่วไป รวมเล่ม 1 ถึง 6 แจกในงานพระราชทานเพลิงศพคณะนายทหารและนายตำรวจซึ่งเสียชีวิตในคราวปราบกบฏ .. 2476  ท้องสนามหลวง วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2476. (พระนคร : โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2476), . 3.

16 แจ้งความกองทัพบก เรื่อง ทางราชการยังไม่เรียกทหารกองหนุน วันที่ 12 ตุลาคม 2476,” ใน รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามได้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนและราษฎรทั่วไป รวมเล่ม 1 ถึง 6 แจกในงานพระราชทานเพลิงศพคณะนายทหารและนายตำรวจซึ่งเสียชีวิตในคราวปราบกบฏ .. 2476  ท้องสนามหลวง วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2476. . 11.

17 สร. 0201.1.1/3 ประกาศและแจ้งความนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกเนื่องในการปราบกบฏ (12-14 ตุลาคม 2476) .หลวงอดุลเดชจรัส ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 18 ตุลาคม 2476

18 สร. 0201.1.3/4 ข้าราชการ ประชาชน พ่อค้า สละเงินและสิ่งของช่วยเหลือในการปราบกบฏ (13 ตุลาคม  2476-23 เมษายน 2477)

19 ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (สัมภาษณ์). ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : โครงการปรีดีพนมยงค์กับสังคมไทย, 2526), . 64.

20 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,” ใน ศิลปวัฒนธรรมปีที่ 26 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2548), . 101-120.

21 สร.0201.1/12 กล่อง 6 พระราชกระแสเตือนรัฐบาลในเรื่องการรับอาสาสมัคร การจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยและขอให้อภัยโทษแก่พวกกบฏ (22-26 ตุลาคม 2476)

22 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) นายแพทย์หวล ชื่นจิตร์ ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 18 ตุลาคม 2476

23 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) โทรเลข นายพร้อม ทัพประพนท์ ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 17 ตุลาคม 2476

24 สร. 0201.1.3/1 ผู้มีชื่ออวยพรและแสดงความยินดีในกรณีที่รัฐบาลจัดการปราบกบฏและเบ็ดเตล็ดบุคคลต่างๆ(4 กุมภาพันธ์-6 มกราคม 2476)

25 สร. 0201.1.1/3 ประกาศและแจ้งความนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกเนื่องในการปราบกบฏ (12-14 ตุลาคม 2476)

26 สร. 0201.1.1/2 แถลงการณ์ของรัฐบาลเรื่องปราบกบฏ (12 ตุลาคม-6 พฤศจิกายน 2476) ประกาศชมเชยน้ำใจลูกเสือ วันที่ 14 ตุลาคม 2476

27 สร. 0201.1.1/3 ประกาศและแจ้งความนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกเนื่องในการปราบกบฏ (12-14 ตุลาคม 2476) ประกาศชมเชย 18 ตุลาคม 2476

28 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) นายช่วง วิบูลย์ชาติ ผู้แทนตำบลหินมูล อำเภอบางปลาม้า สุพรรณบุรี ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 30 ตุลาคม 2476

29 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) นายแพทย์หวล ชื่นจิตร์ ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 18 ตุลาคม 2476

30 ตุลาคม 2476,” ใน ศิลปวัฒนธรรมปีที่ 26 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2548), . 64-67; สุทิน เกษคุปต์. “รำลึกถึงคุณอุดม บุญประกอบ,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายอุดม บุญประกอบ  เมรุวัดธาตุทอง 20 มีนาคม 2512. (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2512), . 21.

31 สุทิน เกษคุปต์. “รำลึกถึงคุณอุดม บุญประกอบ,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายอุดม บุญประกอบ  เมรุวัดธาตุทอง 20 มีนาคม 2512. (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2512), . 22.

32 พันตำรวจโท หลวงโหมรอนราญ. “ชีวประวัติของข้าพเจ้า,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจโท หลวงโหมรอนราญ  เมรุวัดตรีทศเทพ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2520. (กรุงเทพฯ : บุญส่งการพิมพ์, 2520), . 66.

33 สุทิน เกษคุปต์. “รำลึกถึงคุณอุดม บุญประกอบ,” . 23.

34 เรื่องเดียวกัน. 24.

35 เรื่องเดียวกัน. 24.

36 เรื่องเดียวกัน. 25.

37 เรื่องเดียวกัน. 25. วีรกรรมของนายอุดม เมื่อคราวปราบกบฏบวรเดชนั้น เป็นความทรงจำและเป็นความภูมิใจของลูกหลานของเขา ดังที่ถูกบันทึกว่า ลูกๆ รักและเทิดทูนพ่อ ในชีวิตราชการของคุณพ่อมีเกียรติประวัติงดงาม คุณพ่อมีส่วนช่วยประเทศชาติในเหตุการณ์ครั้งสำคัญๆ เสมอ เมื่อครั้งเป็นอัยการประจำจังหวัดขอนแก่น มีบทบาทสำคัญยิ่งในการชักชวนเพื่อนข้าราชการด้วยกันต่อต้านผู้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เมื่อ .. 2476…”

38 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) พระมหาภู่ นาคสลับ ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 21 ตุลาคม 2476

39 สร. 0201.1.3/8 บริจาคทรัพย์และสิ่งของช่วยเหลือในการปราบกบฏ (17 ตุลาคม-6 ธันวาคม 2476); สร.  0201.1.3/1 ผู้มีชื่ออวยพรและแสดงความยินดีในกรณีที่รัฐบาลจัดการปราบกบฏและเบ็ดเตล็ดบุคคลต่างๆ (4 กุมภาพันธ์-6 มกราคม 2476)

40 สร. 0201.1.1/6 ประกาศแจ้งความและแถลงการณ์ในการปราบกบฏของมณฑลพายัพ (14 ตุลาคม 2476-1 พฤศจิกายน 2476)

41 สร. 0201.1.3/1 ผู้มีชื่ออวยพรและแสดงความยินดีในกรณีที่รัฐบาลจัดการปราบกบฏและเบ็ดเตล็ดบุคคลต่างๆ (4 กุมภาพันธ์-6 มกราคม 2476)

42 สร. 0201.1.3/4 ประชาชน พ่อค้า และข้าราชการช่วยเหลือในการปราบกบฏ (14 ตุลาคม 2476-7 เมษายน 2477)

43 ยาสุกิจิ ยาตาเบ (เขียน), เออิจิ มูราซิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (แปล). บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 : การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2550), . 109.

44 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) รายงานของ นายแสวง เย็นสมุทร เสมียนโทรเลข สถานีเพชรบุรี วันที่ 28 ตุลาคม 2476

45 ภูธร ภูมะธนศาลพิเศษ .. 2476, .. 2478, และ .. 2481”วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521, . 101-102.

46 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) นายบุญเรือง จุลรักษา ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 26 ธันวาคม 2476

47 สร. 0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนก ข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481) นายบัว ศิริอักษร ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 15 พฤศจิกายน 2477

48 คำแนะนำ,” ของ พันโท พระขจรเนติยุทธ์ กรมพระธรรมนูญวันที่ 30 มีนาคม 2476, หจช.สร.  0201.1.5.1/1 ตั้งกรรมการออกไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปกครองตามหัวเมืองพิจารณาไต่สวนการกระทำของพวกกบฏ (31 กรกฎาคม-3 มีนาคม 2476)

49 สร. 0201.1.1/5 กล่อง 1 คำสั่งผู้รักษาการฝ่ายรัฐบาลเนื่องในการปราบกบฏ (12 ตุลาคม 2476-2 พฤษภาคม 2476)

50 สร. 0201.1.3/13 กล่อง 5 ทางราชการจะใช้เงินทดแทนแก่ราษฎรที่ต้องเสียหายเนื่องจากในการปราบกบฏ (10 พฤศจิกายน 2476-28 มิถุนายน 2477)

51 สร. 0201.1.3/13 กล่อง 5 ทางราชการจะใช้เงินทดแทนแก่ราษฎรที่ต้องเสียหายเนื่องจากในการปราบกบฏ (10 พฤศจิกายน 2476-28 มิถุนายน 2477)

52 สร. 0201.1.3/17 กล่อง 5 จ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวทหารที่ตายในคราวเกิดกบฏ (28 พฤศจิกายน 2476-25 เมษายน 2477)


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความ เมื่อสามัญชนหาญปราบกบฏ : บทบาทพลเมืองสยามในการปราบกบฏบวรเดช 2476 โดยณัฐพล ใจจริง ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2562

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.silpa-mag.com/

.......

บารมีเหรียญพระเจ้าตากชาววัดอรุณ รุ่นกรุงธนบุรี ช่วยชีวิตหนุ่มใหญ่ให้รอดตายจากเหตุรถพลิกคว่ำ
https://sacred.kachon.com/353935

.......

ประมวลปาฏิหาริย์แห่งเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ(คลิ๊ก)
https://sacred.kachon.com/353522

.....

ร้านเช่าบูชาวัตถุมงคล by กะฉ่อนดอทคอม(คลิ๊ก)
https://shop.kachon.com

 

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก