มัสยิดโบราณอายุกว่า 100 ปี ใจกลางเยาวราช มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ต้นตระกูลสมันตรัฐ
กะฉ่อนวาไรตี้
มัสยิดโบราณอายุกว่า 100 ปี ใจกลางเยาวราช มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ต้นตระกูลสมันตรัฐ
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าภายในย่านการค้าของชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดของพระนครอย่างย่านสำเพ็ง ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์จะมีมัสยิด ศาสนสถานของชาวมุสลิมและสุสานตั้งอยู่ไม่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
หากเริ่มต้นการเสาะหาสถานแห่งนี้โดยการขึ้นมาจากท่าเรือราชวงศ์ ก็ให้เดินเลี้ยวขวาเข้าถนนทรงวาด ผ่านตึกแถวอาคารเก่าแก่ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมและประดับแบบตะวันตกผสมจีนอย่างสวยงามทอดยาวตลอดแนว เมื่อเดินผ่านศาลเจ้าปุนเถ้ากงและโรงเรียนเผ่ยอิงมาอีกประมาณ 2 – 3 ซอย จะพบซอยเล็กๆ ทางซ้ายมือ ซึ่งเมื่อมองเข้าไปก็จะสะดุดกับอาคารทรงยุโรปสีเหลืองนวลหลังหนึ่งตั้งอยู่ดึงดูดสายตาให้เข้าไปเยี่ยมชมใกล้ๆ
ในแวบแรกหากไม่สังเกตป้ายบอกสถานที่คงไม่ทราบว่าอาคารหลังนี้คือมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก แฝงตัวอยู่ท่ามกลางตึกแถวและโกดังสินค้ามากว่าร้อยปี มัสยิดหลังนี้ได้ชื่อตาม หลวงโกชาอิศหาก ผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมเชื้อสายมลายูในสมัยรัชกาลที่ 5
หลวงโกชาอิศหาก จากพ่อค้าเมืองไทรบุรี สู่ขุนนางมุสลิมยุครัตนโกสินทร์
ความเป็นมาของมัสยิดแห่งนี้น่าสนใจตั้งแต่ชื่อเรียก คำว่า ‘โกชาอิศหาก’ เดิมเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางมุสลิมในกรมท่าขวา (ดูแลด้านการพาณิชย์กับประเทศตะวันตก มีจุฬาราชมนตรีเป็นเจ้ากรม) ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ส่วนหลวงโกชาอิศหากคนที่ก่อตั้งมัสยิดแห่งนี้มีประวัติอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและเป็นต้นตระกูล ‘สมันตรัฐ’ ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานของลูกหลานท่าน
หลวงโกชาอิศหากมีชื่อจริงว่า เกิด บินอับดุลลาห์ บิดาของท่านเดินทางจากเมืองไทรบุรี (ปัจจุบันคือรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย) มายังกรุงเทพฯ เพื่อทำการค้าขาย ต่อมาได้รับราชการในสังกัดของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 3) และได้ลงหลักปักฐานแต่งงานกับภรรยาชาวจีน และเช่นเดียวกับบิดาของท่าน หลวงโกชาอิศหากเป็นนายเรือและพ่อค้าที่เรียกว่า นักโกด่า (Nakhoda)
ท่านยังได้รับราชการเป็นล่ามแปลภาษามลายูให้กับราชสำนักสยาม และทำหน้าที่เป็นคนกลางติดต่อกับเจ้าหัวเมืองมลายูทางใต้ที่นำดอกไม้เงินดอกไม้ทองมาถวายพระเจ้าอยู่หัว เหตุนี้ทำให้หลวงโกชาอิศหากมีศักดินาที่ดิน พร้อมประกอบค้าขายอาชีพสุจริตเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
ในสมัยก่อน ท่าน้ำราชวงศ์คับคั่งไปด้วยเรือที่มาเทียบขนถ่ายสินค้า มีทั้งคนไทย จีน แขก เข้ามาทำธุรกิจกันเป็นจำนวนมาก เมื่อพ่อค้าชาวมุสลิมที่เข้ามาประกอบธุรกิจย่านนี้เล็งเห็นว่าไม่มีศาสนถานสำหรับการละหมาด ครั้นจะข้ามเรือแม่น้ำไปยังย่านตึกแดง-ตึกขาว (ฝั่งท่าเรือดินแดง ย่านคลองสาน) ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมัสยิดของพ่อค้ามุสลิมเชื้อสายอินเดียอยู่ 2 หลัง ไปมาก็คงจะลำบาก จึงรวมตัวกันขอร้องหลวงโกชาอิศหากเกี่ยวกับความจำเป็นดังกล่าว ท่านจึงจัดซื้อที่ดินใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์และอุทิศเงินก่อสร้างมัสยิดขึ้น
เดิมมัสยิดหลวงโกชาอิศหากถูกเรียกว่า ‘สุเหร่าวัดเกาะ’ เพราะว่าตั้งอยู่ไม่ไกลกับ ‘วัดเกาะ’ หรือวัดสัมพันธวงศ์ นั่นเอง
การเรียก ‘สุเหร่า’ ซึ่งมีความหมายเดียวกับ ‘มัสยิด’ ผสมกับคำว่า ‘วัด’ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ดังจะเห็นว่ามีมัสยิดเก่าแก่หลายแห่งในกรุงเทพมหานครที่มีชื่อเดิมในลักษณะนี้ เช่น ‘สุเหร่าวัดตองปุ’ (มัสยิดจักรพงศ์ บางลำพู-ส่วนวัดตองปุก็คือวัดชนะสงคราม) ‘สุเหร่าวัดม่วงแค’ (มัสยิดฮารูณในซอยตรอกโรงภาษีเก่าเจริญกรุง 36) ‘สุเหร่าวัดสุวรรณ’ (มัสยิดสุวรรณภูมิ ซอยถนนเจริญนคร 7 ตามชื่อวัดสุวรรณ คลองสาน) เป็นต้น เป็นรูปแบบการเรียกชื่อลำลองโดยใช้แลนด์มาร์กสำคัญของพื้นที่ที่ผสมผสานกันทั้งสองศาสนาได้อย่างไม่มีที่ใดเหมือน
มัสยิดแห่งนี้หลังแรกสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารไม้ ต่อมาได้ขยายสร้างใหม่เป็นหลังที่เราเห็นในปัจจุบันในช่วงรัชกาลที่ 5 ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอ-คลาสสิก (Neo-classic) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น ทั้งตัวอาคาร ลวดลายประดับ ฉลุไม้กรอบหน้าต่าง มีความแปลกตากว่ามัสยิดที่เราเคยคุ้นเคยกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้มัสยิดแห่งนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าที่อื่นแล้ว ก็ยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่ามัสยิดไม่จำเป็นต้องมีโดมเหมือนมัสยิดรุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอิสลามจากตะวันออกกลาง แต่สามารถสร้างโดยรูปแบบที่นิยมและดีที่สุดในยุคนั้นเพื่อให้สมเกียรติฐานะเป็น ‘บ้านของพระเจ้า’ ได้
อาคารมัสยิดมี 2 ชั้น ชั้นล่างใช้ละหมาดทั่วไป 5 เวลา ส่วนชั้นบนจะเปิดเฉพาะเวลาละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันชุมนุมใหญ่ของชาวมุสลิมในการฟังเทศนาธรรม ด้านบนมีซุ้มเว้าบนกำแพง (เมียฮ์หรอบ) ทรงวิมานอย่างไทย ใช้บอกทิศที่ตั้งของเมืองเมกกะในการผินหน้าละหมาด กรอบซุ้มประดับประดาด้วยศิลปกรรมลายดอกไม้เทศแบบตะวันตกอย่างวิจิตรสวยงาม
ปัจจุบัน ทั้งมัสยิดหลวงโกชาอิศหากได้รับการดูแลโดยตระกูลสมันตรัฐ อาจเรียกได้ว่าเป็นมัสยิดประจำตระกูล ทั้งนี้มัสยิดก็ไม่เคยปิดเป็นที่หวงห้าม และยังคงบริการให้สำหรับบุคคลทั่วไปได้เข้ามาประกอบศาสนกิจตามปกติทุกวัน
ที่พำนักของผู้วายชนม์
เราสามารถเดินเข้ามาด้านหลังมัสยิดซึ่งเป็นที่ตั้งของสุสาน (กุโบร์) ขนาดเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ร่มรื่น สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังของหลวงโกชาอิศหากและทายาทลูกหลานคนในตระกูลของท่าน แต่ก็เปิดอนุญาตให้คนทั่วไปให้ฝังร่างได้เช่นเดียวกัน ดังปรากฏป้ายหินเหนือหลุมศพซึ่งจารึกนามของผู้วายชมน์เรียงรายอยู่มากมาย ป้ายเหล่านี้บอกเรื่องราวของผู้คนที่หลากหลายที่พำนักอยู่ในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี บ้างเป็นชื่อภาษาอาหรับปนภาษาจีนจารึกไว้ บ้างเป็นชื่อของมุสลิมเชื้อสายอินเดีย บ้างมีรูปทรงแปลกตาคล้ายใบเสมาหรือโกฐ บ้างมีการก่อเป็นโลงหิน แต่ใต้ลงไปทุกคนล้วนกลับลงสู่ดินเช่นเดียวกันทั้งหมด เป็นความยุติธรรมและเมตตาของพระเจ้าที่มอบให้มนุษย์ได้เสมอเท่าเทียมกันไม่ว่ายากดีมีจนในบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตในโลกนี้
พหุวัฒนธรรมในซอยวานิช 1 ย่านการค้าของนายห้างแขก
ในย่านการค้าของชาวจีนบริเวณนี้ยังมีห้องแถวห้างร้านของชาวมุสลิมอยู่หลายร้านในซอยวานิช 1 ไม่ห่างจากมัสยิดหลวงโกชาอิศหากมากนัก โดยเดินเลาะมาทางเดียวกับที่จะไปวัดสัมพันธวงศ์ จะมีความรู้สึกสะดุดเหมือนหลุดออกมาจากย่านคนจีนนิดหน่อย เพราะป้ายร้านมีชื่อเป็นมุสลิม อย่างร้านอี.แอม. อาลี, ฮามิด, เอม.เอ. มาริการ์, เอม.เอ. ฮุเซน ฯลฯ (มีทั้งภาษาไทย-อังกฤษ-จีน สมเป็นนักธุรกิจ) ห้างร้านเหล่านี้โดยมากขายเพชรพลอย ดำเนินกิจการโดยเจ้าร้านชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย บางร้านเปิดกิจการมาเป็นร้อยปีแล้ว ดังจะเห็นได้จากรูปถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ของซอยวานิช 1
ปัจจุบัน พ่อค้ามุสลิมในซอยวานิช 1 และชาวมุสลิมที่ทำงานอยู่ย่านในคนจีนเขตสัมพันธวงศ์นี้ก็นับเป็นสัปปุรุษที่ไปใช้งานมัสยิดหลวงโกชาอิศหากอยู่เป็นประจำทุกวัน
ขอขอบคุณข้อขมูลดีๆจาก The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย
หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม แว่น วัดอรุณ รายงาน
บารมีเหรียญพระเจ้าตากชาววัดอรุณ รุ่นกรุงธนบุรี ช่วยชีวิตหนุ่มใหญ่ให้รอดตายจากเหตุรถพลิกคว่ำ
https://sacred.kachon.com/353935
.......
ประมวลปาฏิหาริย์แห่งเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ(คลิ๊ก)
https://sacred.kachon.com/353522
.....
ร้านเช่าบูชาวัตถุมงคล by กะฉ่อนดอทคอม(คลิ๊ก)
https://shop.kachon.com
ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก
ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก