ข่าว27 ต.ค. 62 วัดสมรโกฏิ ตลิ่งชัน เททองหล่อ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ- สวดคาถาเงินล้าน - kachon.com

27 ต.ค. 62 วัดสมรโกฏิ ตลิ่งชัน เททองหล่อ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ- สวดคาถาเงินล้าน
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" หรือพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม หรือ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ หรือ "ฤทธิ์ทางใจ"

ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิ.ย. 2460 ที่ ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในครอบ ครัวชาวนาซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี บิดาชื่อ นายควง มารดาชื่อนางสมบุญ นามสกุล "สังข์สุวรรณ"

ก่อนที่จะเกิดนั้น มารดาท่านฝันเห็นพระพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ๆ หลวงพ่อเล็ก เกสโร ซึ่งเป็นลุง ได้กล่าวว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม จึงให้ชื่อว่า "พรหม" ต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโน ครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "สังเวียน"

อายุ 20 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ (อยู่ ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) เจ้าอาวาสวัดบางนมโค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ระหว่างบวชได้ศึกษาพระกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อเล็ก วัดบางนมโค หลวงพ่ออยู่ วัดบ้านแพน หลวงพ่อสังข์ วัดน้ำเต้า หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ ฯลฯ

ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบท ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ทางด้านชาติ ได้สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็ก, โรงเรียนพระสุธรรมวิทยา, จัดตั้งธนาคารข้าว, ออกเยี่ยมเยียน ทหารหาญของชาติและตำรวจตระเวนชายแดนตามหน่วยต่าง ๆ เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และแจกอาหาร, ยา, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ

ด้านพระศาสนาได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุ ศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติสำรวมกาย,วาจา,ใจ มุ่งในทาน ศีล สมาธิและปัญญา ทั้งในทางกรรมฐาน 40 และมหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนจำนวนมากและบันทึกเทปคำสอนกว่า 1,000 ม้วน

นอกจากนี้ ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว อีกทั้งเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศทุก ๆ ปี

ทางด้านวัตถุ ท่านได้ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า 30 วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎกและถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร

ทางด้านพระมหากษัตริย์ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งศูนย์นี้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

พ.ศ. 2535 อายุ 76 ปี ท่านอาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช จนกระทั่งมรณภาพลงเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ต.ค. 2535 เวลา 16.10 น. ปรากฏว่าสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ปัจจุบันบรรจุอยู่ในโลงแก้วบนบุษบกทองคำที่ประดับด้วยอัญมณีอันวิจิตรงดงาม ณ วัดจันทาราม ให้ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพศรัทธากราบไหว้เป็นสิริมงคล

อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ 27 ต.ค. 2562 เวลา 17.39 น. วัดสมรโกฏิ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กทม. จะประกอบพิธีเททองหล่อ"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" ท่านั่งขนาดเท่าองค์จริง โดยก่อนเททอง เวลา 15.00 น. จะมีการสวดพรพคาถาเงินล้าน 108 จบด้วย

ทั้งนี้ วัดสมรโกฏิ เป็นวัดเก่าที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด แม้ได้รับการบูรณะจนดูใหม่ แต่อุโบสถและวิหารยังมีเค้าของศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คืออาคารมีขนาดเล็ก ก่อผนังสูง ไม่มีเสา ผนังด้านหลังอุดตันไม่มีประตู เรียกว่า “มหาอุด”

ใบเสมาเอกด้านหน้าอุโบสถเป็นแบบ “เสมาโหล” สลักจากหินอ่อนแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อคงและหลวงพ่อดำ

ปัจจุบันวัดสมรโกฏิ อยู่ในช่วงการพัฒนา โดยมี"หลวงพ่อบุญชู เตชวโร" เป็นเจ้าอาวาส ได้มอบหมายให้ “พระครูปลัดธนันท์รัฐ" เลขานุ การวัดเป็นผู้สนองงานต่างๆ ซึ่งท่านเป็นผู้สืบสายวิชาวัดกลางบางแก้ว นครปฐมและสายวัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา มีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะการทำตะกรุด, เบี้ยแก้ และวิชาการอาบน้ำมนต์ ให้แก่ญาติโยมที่เข้ามาขออนุเคราะห์ และเป็นขวัญกำลังใจ โดยท่านถือตามคำครูที่ว่า "สุกเอาเผากินฉันไม่ทำ ทำแล้วต้องทำให้ดี"

การเดินทางไปวัดจากแยกที่ถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้ หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 350 เมตร พบซอยวัดสมรโกฏิทางซ้ายมือ (มีซุ้มประตูวัด) ไปตามถนนในซอยประมาณ 500 เมตรถึงวัด (มีป้ายบอกตลอดทาง)

ผู้ที่มีความประสงค์ร่วมบุญเททองหล่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำ สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดสมรโกฏิ เขตตลิ่งชัน กทม. โทร. 093 515 3222

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน