ข่าววัดแสนสุข ติดกล้องไลฟ์สด! คุมเข้มสอบนักธรรม โท-เอก เจ้าคณะเขตชี้เพื่อเป็นต้นแบบทุกสนาม - kachon.com

วัดแสนสุข ติดกล้องไลฟ์สด! คุมเข้มสอบนักธรรม โท-เอก เจ้าคณะเขตชี้เพื่อเป็นต้นแบบทุกสนาม
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่กองธรรมสนามหลวงได้กำหนดสอบธรรมศึกษาสนามหลวง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม กำหนดให้นักเรียนนักธรรมและธรรมศึกษา เข้าสอบวัดความรู้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร ในวันและเวลา ดังนี้

นักธรรมชั้นตรี สอบระหว่างวันที่ 18-21 ตุลาคม 2561 นักธรรมชั้นโท-เอก สอบวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2561 วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2561 (แรม 2 ค่ำ เดือน 12) เวลา 13.00 – 16.00 น. สอบวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 (แรม 3 ค่ำ เดือน 12) เวลา 13.00 – 16.00 น. สอบวิชาธรรม วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2561 (แรม 4 ค่ำ เดือน 12) เวลา 13.00 – 16.00 น. สอบวิชาพุทธ วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2561 (แรม 5 ค่ำ เดือน 12) เวลา 13.00 – 16.00 น. สอบวิชาวินัย

สำหรับนโยบายเชิงรุกเพื่อกระจายการศึกษานักธรรม สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร แม่กองธรรมสนามหลวง ได้มีนโยบายที่จะให้แต่ละตำบลตั้งเป็นศูนย์นักธรรม เพื่อรวบรวมพระในแต่ละตำบลมาเรียนรวมกัน และจัดการเรียนการสอนพร้อมทั้งสนับสนุนให้การเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีให้กระจายไปทั่ว เพราะถือเป็นนโยบายเชิงรุกที่จะจัดการศึกษาให้ไปอย่างทั่วถึง

ขณะเดียวกันยังตระหนักถึงความมั่นคงในการรักษาความเป็นไทยให้คงอยู่กับคนไทยบนพื้นแผ่นดินไทย คณะสงฆ์ไทย ภายใต้การบริหารของมหาเถรสมาคม จึงมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่ความรู้ในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องให้แก่คนไทย ซึ่งเป็นงานที่พระมหาเถระผู้เป็นบูรพาจารย์ได้ถือเป็นสมณกิจบำเพ็ญสืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย

บางยุคสมัยพระสงฆ์จักต้องทรงภูมิความรู้ในสรรพศาสตร์ที่จำเป็นต้องการรักษาแผ่นดินให้คงอยู่สืบต่อมา คนไทยต่างยึดวัดเป็นแหล่งแห่งการเรียนรู้หลักวิชาในการดำเนินชีวิต ตราบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ที่นำคนไทยให้พ้นห่างจากวัด ไปสู่วิถีทางแห่งการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ความรู้ในการดำเนินชีวิต อันเป็นผลให้เกิดความเจริญทางวัตถุ มากกว่าความเจริญทางด้านจิตใจ

ทั้งนี้เพื่อให้การสอบนักธรรมของสนามสอบทั่วประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้พระ เณร มีภูมิความรู้เรื่องธรรมที่แท้จริง รวมทั้งเพื่อเป็นแบบอย่างและต้นแบบในการสอบทุกสนามสอบ คณะสงฆ์ไทยภายใต้การบริหารของมหาเถรสมาคม จึงคุมเข้มตั้งแต่การออกข้อสอบที่ไม่มีการรั่วไหล และการสอบที่โปรงใส่ไม่มีการลอกข้อสอบเด็ดขาด

โดยเฉพาสะที่สนามสอบ วัดแสนสุข ถ.สุวินทวงศ์ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ พระครูอุดมจารุวรรณ หรือ "หลวงพ่อคำไล้" เจ้าคณะเขตมีนบุรีและ เจ้าอาวาสวัดบำเพ็ญเหนือ ถึงกับควักปัจจัยในย่ามว่าจ้างบริษัทรับติดตั้งกล้องวงจรปิดขนาดความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ซึ่งสามารถแสดงรายเอียดแบบคมชัดในระยะ 40-50 เมตร จำนวน 4 ตัว เพื่อมาเป็นหูเป็นตาช่วยกรรมการคุมสอบ

หลวงพ่อคำไล้ บอกว่า คนภายนอกหรือคนทั่วไป อาจจะมองว่า การสอบนักธรรมของพระเณรนั้นอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ พระเณรรูปไหนไปเรียนไปสอบอย่างไรก็ผ่าน พระต้องช่วยกันอยู่แล้ว ซึ่งแท้ที่จริงตรงกันข้าม มีการคุ้มเข้มการสอบอย่างสุดๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระเณร สอบผ่านนักธรรมชั้นโท และชั้นเอก เป็นพระสังฆาธิการ พระนักปกครองคณะสงฆ์ในอนาคต ที่ต้องรับหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา บางรูปอาจจะได้เป็นเจ้าอาวาส หรือบางรูปอาจจะได้เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

ทั้งนี้ หากพิจาณาหัวข้อการสอบนักธรรมจะพบว่า การสอบนักธรรมเพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับพระที่จะเป็นพระนักเทศน์ เจ้าอาวาส และพระนักปกครอง วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมจะทำให้พระเทศน์สอนพุทธศาสนิกชนได้ วิชาธรรม และวิชาพุทธ 2 วิชานี้ เป็นข้อมูลเพื่อไปใช้เขียนคำเทศนา สอนพุทธศาสนิกชน ส่วนวิชาวินัยเป็นวิชาเพื่อคุมวัตรปฏิบัติของตนเอง การปกครองสงฆ์ ปกครองวัด การบริหารวัด รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ ทั้งนี้เมื่อเป็นพระจะยกข้ออ้างที่ว่า พระไม่รู้ไม่ได้ เป็นพระรู้พระธรรมวินัยอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิบัติให้ได้ตามพระธรรมวินัยด้วย

“ความพิเศษของการสอบนักธรรมที่ยังคงเป็นมาตรฐานเกือบ 200 ปีคือ วันและเวลาสอบจะเหมือนกันทุกปีคือ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 – แรม 5 ค่ำ เดือน 12 เวลา 13.00 – 16.00 น. ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆในประเทศก็ตาม และเป็นการทำข้อสอบแบบอัตนัย หรือเขียนคำตอบด้วยมือเท่านั้น” หลวงพ่อคำไล้กล่าว

พร้อมกันนี้ หลวงพ่อคำไล้ ยังเล่าถึงประวัติของการสอบนักธรรมด้วยว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป

การศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมา นิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี ที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป จึงปรากฏว่า ภิกษุสามเณรที่มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงมีจำนวนน้อย เป็นเหตุให้สังฆมณฑลขาดแคลนพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกิจการพระศาสนาทั้งในด้านการศึกษา การปครอง และการแนะนำสั่งสอนประชาชน

ดังนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้ทรงพระดำริวิธีการเล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้น สำหรับสอนภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก นับแต่ทรงรับหน้าที่ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2435 เป็นต้นมา โดยทรงกำหนดหลักสูตรการสอนให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งด้านหลักธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย ตลอดถึงหัดแต่งแก้กระทู้ธรรม

ปีพ.ศ. 2472 คณะสงฆ์จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก โดยมีแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นผู้ดำเนินการจัดการสอบ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และมีพระเถระที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามหลวงสืบมาตามลำดับ แล้วจำนวน 7 รูป รูปปัจจุบัน คือ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.9) วัดบวรนิเวศวิหาร รับตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2542

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชาย by กะฉ่อน  รายงาน