ข่าวบุรีรัมย์เร่งพัฒนาเครื่องดื่ม-สมุนไพร ขานรับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี - kachon.com

บุรีรัมย์เร่งพัฒนาเครื่องดื่ม-สมุนไพร ขานรับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

จังหวัดบุรีรัมย์ เดินหน้าโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีจัดกิจกรรม “การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว : การพัฒนาผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทเครื่องดื่มและสมุนไพร” ประกอบด้วยประภทเครื่องดื่ม จำนวน 61 หมู่บ้าน จำนวน 86 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ในพื้นที่จำนวน 36 หมู่บ้าน จำนวน 49 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่ายกระดับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาช่องทางการตลาดมุ่งปรับตัวสู่การค้าแบบสากล โดยได้รับเกียรติจาก นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมเดอะศิตา ปริ๊นท์เซส จังหวัดบุรัรัมย์

นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ เผยว่า “รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้และความเจริญความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุน ส่งเสริม ยกระดับผลิตภัณฑ์และพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลายเพ่อให้ขายได้ มุ่งปรับตัวสู่การค้าแบบสากล

ที่ผ่านมาแม้ประสบความสำเร็จ แต่รายได้กลับตกอยู่กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพียงบางกลุ่ม แต่ไม่สามารถกระจายถึงประชาชนส่วนใหญ่ได้ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากไม่ประสบความสำเร็จสัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร กอปรกับรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกระแสหลักของประเทศ ส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในกลุ่มทุนเอกชน เช่นโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เจ้าของกิจการกรุ๊ปทัวร์ ไม่ได้กระจายเข้าไปถึงชุมชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านยุคการผลักดันขายสินค้า OTOP ออกจากชุมชนเพียงด้านเดียว สู่การเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ตามความต้องการ โดยการขายสินค้าในชุมชนที่มาจากการท่องเที่ยว โดยใช้เสน่ห์ชุมชน ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์แปลงเป็นรายได้ ทั้งนี้ครอบครัวและลูกหลานยังอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องแข่งขันนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายนอกชุมชน เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี ชวนกันคิด ชวนกันทำ ผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชนที่มีเสน่ห์ดึงดูด และมีคุณค่าเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนและใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน ซึ่งรายได้จะกระจายอยู่กับชุมชน ทุกคนมีความสุข เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า “สำหรับกิจกรรม “การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในด้านการพัฒนา OTOP ประเภทเครื่องดื่มและสมุนไพร สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ เล็งเห็นความสำคัญและได้ให้การสนับสนุนให้ชุมชนได้มีการจัดเวทีในการวิเคราะห์ศักยภาพ ค้นหาปัญหา ความต้องการ การให้ความรู้ การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะแก่ผู้ประกอบการ และดำเนินการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เพื่อค้นหาปัญหา อัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ และความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์โอท็อปจากหมู่บ้านต่าง ๆ ประกอบด้วยประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 61 หมู่บ้าน จำนวน 86 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ในพื้นที่จำนวน 36 หมู่บ้าน จำนวน 49 ผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมโครงการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมเวทีเพื่อพิจารณาในการออกแบบกรอบแนวคิด (Concept) รูปแบบ (Theme) ในการดำเนินการที่เหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของหมู่บ้านนั้น ๆ ได้แก่ นายไพรวัลย์ ไทยนิยม ผู้เชี่ยวชาญศูนย์นวัตกรรม กลุ่มธุรกิจซีพีออล์ บริษัท ซีพี ออล์ จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “มองเกมส์เทรนด์โลกกับการพัฒนาสินค้า ภูมิปัญญาสู่ตลาดสากล” คุณมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกส่งเสริมนวัตกรรมทางธุรกิจ ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สถาบันอาหาร บรรยายหัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย”

ดร.ขาม จาตุรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์การตลาดการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมบรรยายในหัวข้อ “แนวคิดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ด้วยการใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น” ดร.ตระกูล จิตวัฒยากร คณบดี คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ และผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างกลยุทธ์ด้านการตลาด บรรยายหัวข้อ “กลยุทธ์การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ และตราสินค้าสู่ช่องทางการตลาดโมเดิร์นเทรด” ในงานยังจัดให้มี Designs Workshop ระดมความคิด ค้นหาเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่โดดเด่นประจำท้องถิ่น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในชุมชนให้มีความรู้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และการบริการด้านการท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาสินค้าจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป”

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ 044-666512 หรือ [email protected]

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชายนพ by กะฉ่อน  รายงาน