ข่าว“มิวสิคไร้ท์-เสียงสยาม”เห็นด้วย“รถไฟดนตรี”..ล้างบางพวกมิจฉาชีพเหลือบขโมยลิขสิทธิ์คนอื่น - kachon.com

“มิวสิคไร้ท์-เสียงสยาม”เห็นด้วย“รถไฟดนตรี”..ล้างบางพวกมิจฉาชีพเหลือบขโมยลิขสิทธิ์คนอื่น
กะฉ่อนวาไรตี้

photodune-2043745-college-student-s

กงกฤช เชื้อศรีสกุล กรรมการผู้บริหาร ค่ายเพลง “บริษัท มิวสิค ไร้ท์ แมนเนจเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด” พร้อมด้วยบริษัทพันธมิตร อย่าง “บริษัท เสียงสยามแผ่นเสียง-เทป จำกัด”นำโดย“วัฒนา อัศวฤกษ์นันท์”กรรมการผู้บริหารเสียงสยาม และอีกหลายค่ายเพลง ต่างปรบมือเห็นด้วยกับ “ระย้า-ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร” ประธานกรรมการ บริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด ที่ออกมาประกาศเอาจริง จัดการมิจฉาชีพ

จากกรณี“ระย้า-ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร” ประธานกรรมการ บริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด ที่ประกาศเอาจริงกับผู้ที่แอบอ้าง ชื่อค่ายเพลง ต่างๆ เพื่อหลอกลวงร้านค้าและร้านคาราโอเกะ โดยยื่นข้อเสนอในราคาที่จ่ายน้อยลง จัดเก็บลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทอื่น รวมถึงหากเกิดปัญหาใดใดขึ้นก็จะรับหน้าที่เคลียร์ให้ สร้างความเข้าใจผิดให้กับร้านค้าและร้านคาราโอเกะทั่วประเทศ จนส่งผลกระทบถึงประกอบการที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง ซึ่งเรื่องนี้เจ้าของลิขสิทธิ์ค่ายเพลงต่างๆ ออกมาสนับสนุนผู้บริหารค่ายรถไฟดนตรี และพร้อมที่จะร่วมมือกันในการกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพพวกนี้ให้สิ้นซาก

กงกฤช เชื้อศรีสกุล กรรมการผู้บริหาร ค่ายเพลง “บริษัท มิวสิค ไร้ท์ แมนเนจเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด”พร้อมด้วยค่ายเพลงพันธมิตร อย่าง“บริษัท เสียงสยามแผ่นเสียง-เทป จำกัด”ซึ่งได้รับความเสียหายจากพวกมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเอาไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ก็ออกมาสนับสนุนและร่วมมือกับทางบริษัท รถไฟดนตรี พร้อมด้วยบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงอีกหลายค่าย ต่างก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะได้รับความเสียหายมาบ่อยครั้ง โดยกงกฤช กล่าวว่า อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เมืองไทยมีบรรทัดฐานที่สากลยอมรับมากขึ้น

“ปัจจุบัน มีกลุ่มๆหนึ่ง แอบอ้างชื่อ ค่ายเพลงต่างๆ ว่าเป็นค่ายจัดเก็บลิขสิทธิ์ ที่เป็นศูนย์ร่วม ลิขสิทธิ์เพลงทุกค่าย ทาง บริษัท มิวสิค ไร้ท์ แมนเนจเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ ค่ายเพลงพันธมิตร ได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้มานานและบ่อยครั้ง พวกเราจึงขอแจ้งเตือน ผู้ประกอบการทั่วประเทศว่า กลุ่มคนที่แอบอ้างเหล่านี้ เป็นมิจฉาชีพ ที่นำสติ๊กเกอร์ มาหลอกจำหน่าย และ หลอกลวงร้านค้า และ สถานประกอบการบันเทิง ร้านคาราโอเกะ ซึ่งหลังจาก ที่บริษัท มิวสิค ไร้ท์ แมนเนจเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ ประกาศ เอาจริงกับร้านค้า ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึง ปัจจุบัน จึงได้ตรวจพบว่า สาเหตุ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ของร้านค้า แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 คือ ประกอบการโดยไม่รู้ว่าต้องขอลิขสิทธิ์ กับใคร / กลุ่มที่ 2 คือ ถูกมิจฉาชีพ หลอกขายลิขสิทธิ์ให้ โดยทางร้านค้าคิดว่าซื้อกับ บริษัท ถูกต้องแล้ว / กลุ่มที่ 3 คือ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไทย ในปัจจุบัน และต้องการที่จะลดต้นทุน”

สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักประกันให้ทางร้านค้าที่ยอมจ่ายเงินให้กับพวกมิจฉาชีพ เพราะคนพวกนี้จะอ้างว่าหากมีปัญหาถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงมาดำเนินคดี ก็จะทำการเคลียร์ให้ ซึ่งเรื่องนี้ “กงกฤช เชื้อศรีสกุล”ให้ทัศนะว่าคงเป็นเรื่องยากที่คนทำผิดกฎหมายจะอยู่รอดได้ในสังคม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคนที่ทำถูกกฎหมายคงต้องหมดกำลังใจในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อสังคม

“ผมคิดว่ามิจฉาชีพพวกนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐบาล ยืนมือเข้ามาช่วยเหลือ และ ทำความเข้าใจกับสถานประกอบการร้านค้าคาราโอเกะให้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น รวมทั้ง บริษัทค่ายเพลงที่ยื่นจัดเก็บที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ได้ทำการปราบปรามพวกกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ได้ทำการหลอกลวงประชาชน เหล่านี้ อย่างจริงจัง เพราะปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดมา แต่เกิดขึ้นสะสมมายาวนานแล้ว ทุกครั้งที่มีการตื่นตัวเรื่องการปราบปรามมิจฉาชีพแอบอ้างลิขสิทธิ์เพลง พวกเราย่อมเห็นด้วย อย่างกรณีคุณระย้า รถไฟดนตรี ที่ออกมาประกาศอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ ไม่ใช่แค่กลุ่มเล็กๆ จะเห็นว่าประเทศที่เจริญแล้ว ย่อมจริงจังกับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าหน้าที่รัฐก็จัดการอย่างเฉียบขาด ผมก็อยากฝากไปยังภาครัฐให้มีมาตรการที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นครับ”

กงกฤช เชื้อศรีสกุล กรรมการผู้บริหาร ค่ายเพลง “บริษัท มิวสิค ไร้ท์ แมนเนจเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด”ทิ้งท้ายว่าหากผู้ประกอบการร้านค้าที่ต้องการนำเพลงที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้ ควรติดต่อกับทางบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง เพราะหากทำผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดี จะได้ไม่คุ้มเสีย

 

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม  ชายนพ by กะฉ่อน  รายงาน